รัฐบาลมอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคเหนือ คืนอากาศดีให้พี่น้องประชาชน และเพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและมีความสุข วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าภารกิจการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชน ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกล่าวว่า ทุกปีประเทศไทยมักประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
โดยมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากการเผาป่า การก่อสร้าง การคมนาคมและอุตสาหกรรม โดยภารกิจดังกล่าวได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งขอให้มั่นใจได้ว่าผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จะลดลง และประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และย้ำว่ารัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ รวมถึงขอให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงและปลอดภัย
ด้านนายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2568 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงและการดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2567 เป็นต้นมา โดยมีหน่วยปฏิบัติการ 6 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระยอง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ มีจำนวน 3 เทคนิค ได้แก่
1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย
2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่ เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง
3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำเพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า การปฏิบัติการด้วยเทคนิคทั้งหมดดังกล่าวลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันโดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำเพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และพื้นที่ทำให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศลดลงได้และส่งผลให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง และระดับดีตามลำดับ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรพร้อมปฏิบัติภารกิจทุกวันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองตามนโยบายจากรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลและพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประชาชนมีคุณภาพอากาศที่ดีท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและมีความสุข