เริ่มเป็นจริงชัดเจนมากขึ้นสำหรับ “ธุรกิจกาสิโนถูกกฎหมายในไทย” หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจ สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ...ที่เสร็จสิ้นไปแล้วเตรียมจัดทำสรุปรายงานเสนอ ครม.ผลักดันเข้าสภาในสมัยประชุมปี 2568 ตราเป็น กฎหมายออกมาบังคับใช้เร็ววันนี้

ท่ามกลางเสียง “ภาคประชาชน นักวิชาการ” ที่ยังมีประเด็นทางกฎหมายต้องไตร่ตรองให้รอบคอบตั้งแต่เรื่องบทนิยาม การควบคุม อาชญากรรม โดยเฉพาะการขยายความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรมกับธุรกิจกาสิโน

หากการบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด “สถานบันเทิงครบวงจร” อาจเป็นศูนย์รวมอบายมุขแหล่งอาชญากรรม “กระทบต่อเด็ก และเยาวชน” แถมอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมืออันเป็นสถานที่ในการฟอกเงินได้ด้วยซ้ำ

ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งกบดานองค์กรอาชญากรรมในอนาคต ก็ได้ ผศ.ดร.ณัชพล จิตติรัตน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนบนเวทีอภิปรายประเทศไทยยุคหลังกาสิโน : ปัญหาและความท้าทายในประชุมวิชาการถกปัญหาพนันกับสังคมไทยปี 2567 โดย สสส.ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ว่า

ถ้าดูตาม “กาสิโนในต่างประเทศ” ส่วนใหญ่มุ่งเน้นกฎหมายการพนันโดยตรง เพื่อให้สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ “แตกต่างจากประเทศไทยนำมาไว้ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร” เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย “ลดแรงต้านจากสังคม” กลายเป็นไม่เน้นการควบคุมธุรกิจการพนันเท่าที่ควร

กระทั่งเกิดประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับ “การฟอกเงิน” เพราะที่ผ่านมากฎหมายไทยหลายฉบับมีเนื้อหาถูกเขียนไว้ดี แต่การบังคับใช้ กฎหมายกลับไม่จริงจัง ส่งผลให้ประชาชนไม่เกรงกลัวก่อเกิดการทำผิดขึ้นมากมาย

...

แม้เรื่องนี้องค์กรอิสระจะคอยกำกับให้เจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมาย “ละเว้นจะมีโทษ” แต่ก็เป็นช่วงของการแก้ไขปัญหานั้น “นี่อาจส่งผลให้บ่อนกาสิโนถูกใช้เป็นสถานที่ฟอกเงินได้สูง” จากสมาชิกองค์กรอาชญากรรมที่นำเงินทำผิดกฎหมายมาแลกชิปแล้ว “อำพรางเล่นชนะ” กลายเป็นเงินทำผิดถูกฟอกขาวกันภายหลัง

ทว่าผลกระทบหากกรณี “ประเทศไทยหละหลวมในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” สิ่งที่จะตามมา FATF อาจประเมินคะแนนระดับที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน “ถูกแบล็กลิสต์” เหมือนกับเมียนมา เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ส่งผลให้ถูกใส่รายชื่อใน Grey List อันจะกระทบต่อการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ

ไม่เท่านั้น “อุตสาหกรรมการพนัน” ยังจะถูกปรับเนื่องจากละเมิดกฎหมายป้องกันการฟอกจนทำให้อาชญากรรมที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ “ประเทศชาติก็อาจกลายเป็นแหล่งกบดานขององค์กรอาชญากรรม” โดยเฉพาะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามมามากมายก็ได้

ยิ่งกว่านั้น “ความสัมพันธ์ระหว่างอาชญากรรม และธุรกิจ กาสิโน” หากติดพนันมักเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมประเภทอื่นๆแถมตามหลักอาชญาวิทยาการพนันถูกจัดเป็นอาชญากรรมประเภทไร้เหยื่อ (Victimless Crime) “ผู้ทำผิดกับเหยื่อเป็นคนเดียวกัน” ทำให้ไม่มีผู้เสียหายยากต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐตามมาด้วยซ้ำ

ตอกย้ำด้วยกรณี “กาสิโนไทยถูกนำมารวมในร่าง พ.ร.บ.สถาน บันเทิงครบวงจรฯ” สิ่งนี้จะทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถเจาะจงได้ แม้แต่บทนิยามก็พบว่า “ไม่ครอบคลุมครบถ้วนหลายเรื่อง” อย่างเช่น อุปกรณ์เครื่องต่างๆไม่ระบุนิยามให้ชัดเจน หรือคำว่ากาสิโนถูกออกแบบไว้แต่ไม่ระบุสถานะ ไม่มีขอบเขตแค่ไหนอย่างไร

ผลกระทบตามมาคือ “กฎหมายสารบัญญัติที่เกี่ยวข้องอาจจะขาดไปด้วย” อันจะมีผลกระทบต่อการควบคุมอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกาสิโน ปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี รวมถึงการบริหารรายได้จากธุรกิจการพนัน และมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพนันอันเป็นปัญหาใหญ่ค่อนข้างมาก

ขณะที่ในส่วน จุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน บอกว่า สำหรับกาสิโนในหลายประเทศ 100% “บรรจุในกฎหมายการพนัน” ยกเว้นประเทศไทยนำมาซุกไว้ในร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ เพราะถูกกำหนดจาก “บนลงล่าง” เช่นนี้เมื่อรัฐบาลนำเสนอร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรแบบนี้เข้าสู่สภาฯ

ย่อมทำให้ “สภาไม่อาจร่างเฉพาะ พ.ร.บ.การพนันได้” ต้อง ดำเนินการร่างกฎหมาย 2 ส่วนนี้ควบคู่กันไป ซึ่งแตกต่างจาก “ญี่ปุ่น” อันมีลักษณะโมเดลกาสิโนคล้ายกันเพียงแต่ญี่ปุ่นร่างกฎหมายจาก “ล่างขึ้นบน” โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้นำเสนอกาสิโนมาอยู่ภายใต้กฎหมาย สถานบันเทิงครบวงจรฯ เพื่อช่วยเหลือชุมชน และธุรกิจ SME

...

เมื่อเป็นแบบนี้ “พรรคประชาชน” จึงเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เข้าไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเนื้อหาที่ไม่มีในร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ พรรครัฐบาล คือ เรื่องแรก...“กำหนดหลักเกณฑ์อนุญาตให้บุคคล เข้ากาสิโน” อย่างการกำหนดอายุ สัญชาติ เช่น สัญญาติไทยจำเป็นต้องแสดงหลักฐานรายได้ขั้นต่ำก่อนเข้าเล่นด้วย

เรื่องที่สอง...“เลือกสถานที่ตั้ง” ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลชี้พื้นที่ใดก็ได้ “เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกา” ทำให้เราต้องผลักดันกฎเกณฑ์ก่อนออกพระราชกฤษฎีกา “ต้องทำประชามติ” ในการสอบถามคนในพื้นที่นั้น

เรื่องที่สาม...“กำหนดสัดส่วนคนไทยทำงานกาสิโน” เพื่อฝึกอบรมให้กับพนันงานทุกคน เรื่องที่สี่...“จัดตั้งกองทุนป้องกัน และฟื้นฟูผลกระทบ” จากการประกอบธุรกิจกาสิโน เพราะร่าง พ.ร.บ. ฉบับรัฐบาลตัดส่วนตรงนี้ออกไป โดยแหล่งเงินจะมาจากสัดส่วนรายได้ สุทธิ 1% ของธุรกิจกาสิโนน่าจะตกที่ 3,000-4,000 ล้านบาท/ปี

เน้นใช้สำหรับการป้องกันและการแก้ปัญหาการติดพนัน รวมทั้ง ใช้ในการสนับสนุนด้านการศึกษา สวัสดิการคนชรา ผู้พิการ และเงินกองทุนจำนวนนี้ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมเข้ามารับรู้ด้วย

...

“จริงๆแล้วการผลักดันกาสิโนมีสตอรีเทลลิ่งตั้งแต่ปี 2566โดยปล่อยผลสำรวจการตลาดของบริษัทฮ่องกงที่จะมาไทยพูดเรื่องนี้ เดือน ธ.ค.โดยกาสิโน 70% ต่างชาติจะเข้ามาเล่นสร้างเงินสูงสุด 1 ล้านล้านบาท แย่สุด 3 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นสตอรีเทลลิ่งสนับสนุนมาตลอดจนสงสัยว่ากาสิโนจูงใจให้ต่างชาติมาไทยได้จริงหรือไม่”จุลพงศ์ ว่า

สิ่งนี้เป็นความสำคัญของ “ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ” หากก้าวแรกเดินผิดพลาดย่อมส่งผลต่อก้าวที่สอง สาม สี่ ต้องผิดตามไปด้วยจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และรับฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้างจริงๆ เพื่อจะได้กฎหมายออกมาอย่างมีความชอบธรรม...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม