องค์การอนามัยแห่งทวีปอเมริกา (PAHO) เปิดเผยข้อมูล จำนวนผู้ติดเชื้อ “ไข้เลือดออกเด็งกี่” ในภูมิภาคอเมริกา กลางและอเมริกาใต้ในปีนี้เพิ่มขึ้นจนมากกว่า 12.6 ล้านรายแล้ว...มากกว่าก่อนกว่า 3 เท่าตัว และมีผู้เสียชีวิตถึง 7,700 ราย

บราซิล, อาร์เจนตินา, โคลอมเบีย ในอเมริกาใต้ กับเม็กซิโก ในอเมริกาเหนือ ได้รับผลกระทบจากเด็งกี่มากเป็นพิเศษและเป็นประเทศที่ “ผู้ติดเชื้อ” กับ “ผู้เสียชีวิต” ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่

ถือ...เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2523

ประเด็นสำคัญมีว่า...กว่า 70% ของผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเด็งกี่ในกัวเตมาลาเป็นเด็ก ขณะที่ในเม็กซิโก, คอสตาริกา และปารากวัย ผู้ป่วยอาการหนักกว่า 1 ใน 3 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี นอกจากนั้นเด็กกับคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนมีโอกาสติดเชื้อเด็งกี่และป่วยอาการหนักได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น

ดร.จาร์บาส บาร์โบซา ผู้อำนวยการ PAHO บอกว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ เกี่ยวพันกับอากาศที่ร้อนขึ้นและชื้นขึ้น กอปรกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การสะสมของน้ำใกล้ที่อยู่อาศัย การจัดการน้ำเสียที่ไม่ดี ซึ่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชั้นดี

ที่สำคัญ... “เด็ก” มีความเสียงต่อเชื้อเด็งกี่มากกว่า “ผู้ใหญ่”

อันตรายจาก ไข้เด็งกี่ (Dengue Fever) จึงเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

...

ไข้เด็งกี่...เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดจากยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โรคนี้พบมากในเขตร้อนชื้น รวมถึงประเทศไทย โดยในช่วงฤดูฝนหรือหลังฝนตกจะมีการระบาดสูงขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากแหล่งน้ำขังที่เอื้อต่อการเพาะพันธุ์ยุงลาย

สำหรับความรุนแรงของโรคไข้เด็งกี่สามารถแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ หนึ่ง...ไข้เด็งกี่แบบไม่รุนแรง ผู้ป่วยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และผื่นขึ้น สอง...ไข้เด็งกี่แบบมีภาวะเลือดออก มีเลือดออกตามอวัยวะ เช่น เหงือก หรือใต้ผิวหนัง อาจเกิดภาวะเลือดออกภายใน

สาม...ไข้เด็งกี่รุนแรง (Dengue Shock Syndrome) อันตรายถึงชีวิต เกิดจากความดันโลหิตต่ำ อวัยวะล้มเหลว และอาการช็อก

ย้ำว่าอันตรายของไข้เด็งกี่...กรณีไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่เกิดภาวะช็อกมีโอกาสเสียชีวิตสูง ถัดมา...ผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ภาระงานในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการระบาด และความเสี่ยงต่อกลุ่มเปราะบาง...เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน

ข้อแนะนำวิธีป้องกันลดความเสี่ยงเริ่มที่ต้นเหตุ...กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทำลายแหล่งน้ำขัง เช่น ขวดพลาสติก ยางรถเก่า ถังน้ำ, ป้องกันยุงกัด ใช้ยาทากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ติดตั้งมุ้งลวด, เฝ้าระวังในชุมชนส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการดูแลผู้ป่วย, รับคำแนะนำจากแพทย์

หากมีอาการต้องสงสัย เช่น ไข้สูง ผื่นแดง ควรรีบพบแพทย์ทันที

ข้อมูลระบาดวิทยา “กรมควบคุมโรค” ระบุว่า โรคไข้เลือดออกเด็งกี่เป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา...มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น

และ...โรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 (2,500 ล้านคน)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบมากในประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น ซึ่งร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมดมาจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย “ประเทศไทย”...เริ่มมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 และพบการระบาดครั้งแรกในปี พ.ศ.2501 พบการระบาดใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ.2530

มีรายงานผู้ป่วยสูงถึง 170,000 กว่าราย...เสียชีวิต 1,000 กว่าราย

หลังจากนั้นประเทศไทยมีแนวโน้มของการพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยในปีที่มีการระบาดใหญ่จะพบผู้ป่วยมากกว่า 100,000 ราย และเสียชีวิต 100 รายขึ้นไป

โรคไข้เลือดออกมีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน เดือนกันยายนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ถ้าหากช่วงปลายปีจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงและยังคงสูงลอย อาจทำให้เกิดการระบาดต่อเนื่องในปีถัดไปได้

...

การแพร่กระจายของไวรัสเด็งกี่อาศัย “ยุงลายบ้าน” และ “ยุงลายสวน” เป็นพาหะนำโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยยุงลายเพศเมียดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่อยู่ในระยะที่มีไวรัสในกระแสเลือด โดยทั่วไประยะจะอยู่ในช่วง 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ

เมื่อยุงลายได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จะใช้ระยะเวลาฟักตัว 8–12 วัน ถึงสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คนได้และเมื่ออีกคนได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จะใช้เวลา 3–14 วัน (เฉลี่ย 4–7 วัน) ถึงจะแสดงอาการของโรค ซึ่งบางรายอาจจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้

ย้ำว่า...“โรคไข้เลือดออก” ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหะนำโรค การติดต่อจึงต้องใช้เวลาในผู้ป่วยและในยุง ระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้คือ 2 วันก่อนถึง 6 วันหลังวันที่เริ่มแสดงอาการ และ...เมื่อยุงได้รับเชื้อไวรัสเด็งกี่จากผู้ป่วยจะใช้เวลาประมาณ 8-12 วัน...

...ในการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสจนมากพอ จึงจะเป็นระยะติดต่อจากยุงสู่คนได้

“ไข้เด็งกี่” เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการลดจำนวนยุงลายและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุข การตื่นตัวและร่วมมือกันของทุกภาคส่วนสามารถช่วยลดการระบาด ลดความรุนแรงของโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม