มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่สร้างปรากฏการณ์ความร่ำรวยครั้งสำคัญในโลกธุรกิจ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 136 ล้านล้านบาท ตามข้อมูลของ Forbes ซึ่งทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น มาจากราคาหุ้น Tesla ที่เพิ่มขึ้นถึง 71% รวมไปถึงมูลค่าของ SpaceX ที่พุ่งขึ้น ทำให้ อีลอน มัสก์ ที่ถือหุ้น Tesla อยู่ประมาณ 13% รวยแบบติดจรวด มูลค่าของ SpaceX แตะที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ จากการตกลงซื้อหุ้นที่มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์ สรุปว่าความร่ำรวยของ อีลอน มัสก์ เกิดจากการมีบทบาทสำคัญในบริษัทเทคโนโลยีล้ำสมัย เอาอนาคตมาขายในปัจจุบันได้สำเร็จ

ทำให้มหาเศรษฐีอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon ตกมารวยอันดับสองด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 243.7 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้นการสะท้อนความสำเร็จทางธุรกิจของ มัสก์ จึงเป็นตัวชี้วัดความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงใน อุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มีเป้าหมายไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต จากความคิดนอกกรอบ

ประเทศไทย ตระกูลร่ำรวย ติดอันดับที่ 19 ของโลกจากจำนวน 25 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลเจียรวนนท์ ซึ่งจัดอันดับโดย Bloomberg อันดับ 1 เป็น ตระกูลวอลตัน เจ้าของค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ วอลมาร์ท ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.32 แสนล้านดอลลาร์ ส่วน ตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.41 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งสองตระกูลทำธุรกิจคล้ายกัน เริ่มจากธุรกิจต้นน้ำดั้งเดิม จากการเป็นผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปงอกงามในตลาดหุ้น ที่ผ่านมา หุ้นวอลมาร์ทพุ่งขึ้นถึง 80% ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

มหาเศรษฐีคนอื่นๆ เช่น ตระกูล อัล นาห์ยาน มีมูลค่าทรัพย์สิน 3.239 แสนล้านดอลลาร์ มาจากความร่ำรวยดั้งเดิมอยู่แล้ว เช่น ควบคุมแหล่งน้ำมัน ราชวงศ์ผู้ปกครอง โรงกลั่นน้ำมัน ซุปเปอร์มาร์เกต แบรนด์แฟชั่นระดับโลก อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม อาหาร การเกษตร ยาและเวชภัณฑ์ หลากหลาย เป็นธุรกิจสืบต่อมาตั้งแต่รุ่นดึกดำบรรพ์ เป็นที่คุ้นเคยกันดี

...

เศรษฐีหุ้นเมืองไทย อันดับ 1 สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ มูลค่าหุ้น 240,341.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.95% จากธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคม อันดับ 2 นิติ โอสถานุเคราะห์ ทายาทอาณาจักรโอสถสภา มูลค่า 59,472.43 ล้านบาท ลดลง 3.75% อันดับ 3 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลและสายการบิน มูลค่า 50,655.23 ล้านบาท ลดลง 11.12%

พอจะสรุปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีแนวโน้มไปเติบโตที่อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะเข้ามาทดแทนธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งเสื่อมค่าไปตามสถานการณ์ ความต้องการของตลาดผู้บริโภค

AI บวกวิสัยทัศน์ จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของเศรษฐกิจ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม