การติด “สุรา” ของ “คนไทย” แสดงให้เห็นถึงความท้าทายด้านสาธารณสุขที่สำคัญยิ่ง...คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคแอลกอฮอล์เฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่มีสัดส่วนผู้ดื่มสูงที่สุด น่าสนใจด้วยว่าร้อยละ 36 ของผู้ดื่ม...ดื่มหนักและดื่มอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งส่งผลกระทบต่อ “สุขภาพ” และ “สังคม” ในระยะยาว

การดื่มสุราส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจและความเสี่ยงต่อมะเร็งหลายชนิด นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและบาดเจ็บ

แม้ว่าจะมีการรณรงค์ลดการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้ผู้เลิกดื่มสุราเพิ่มขึ้นกว่า 2.6 ล้านคน แต่ยังคงมีกลุ่ม “วัยรุ่น” และ “ผู้หญิง” ที่มีแนวโน้มบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น สถานการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความพร้อมของสังคมในการสนับสนุนมาตรการควบคุมและป้องกัน
การดื่มสุราอย่างยั่งยืนอีกด้วยเช่นกัน

การแก้ปัญหาการติดสุราในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างจิตสำนึก การส่งเสริมสุขภาพ และมาตรการควบคุมการจำหน่ายสุราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สุรา” คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆของร่างกาย

...

เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ เกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศโดยพิษแบบเฉียบพลันจะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย

ในผู้ที่เป็นโรค “พิษสุราเรื้อรัง” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปและดื่มวันละมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 1.5 กระป๋อง, เหล้าแดง 4 ฝา, ไวน์ 2 แก้ว, เหล้าขาว 2 เป๊ก จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ

อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ สมองเสื่อม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม

ทั้งนี้หากหยุดดื่มอย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน มักจะพบอาการมือสั่น เหงื่อออกเป็นไข้ สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หวาดระแวงคิดว่าจะมีใครมาทำร้าย อาจทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น ชักเกร็ง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

“หักดิบ เลิกเหล้า”...สู่ชีวิตใหม่ที่สดใส

ประเด็นนี้ให้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า... “การเลิกเหล้า” ไม่ใช่เพียงแค่การหยุดดื่มสุรา แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและสุขภาพดี

การ “หักดิบ” หรือการหยุดดื่มสุราแบบฉับพลันอาจฟังดูเป็นทางเลือกที่ท้าทาย แต่หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสมก็สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างแท้จริง

“การหักดิบ”...ฟังแล้วอาจน่ากลัว แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ละเมียดละไม ย้ำว่า...การเลิกเหล้าแบบหักดิบอาจเหมาะสำหรับบางคนที่มีความตั้งใจแน่วแน่ อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงสภาพร่างกายและสุขภาพจิตเป็นสำคัญ เริ่มจาก...ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ระบุเหตุผลที่ต้องการเลิก เช่น สุขภาพ ครอบครัวหรือการประหยัดค่าใช้จ่าย

ถัดมา...รับการสนับสนุน ขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มสนับสนุน เช่น สายด่วน 1413 หรือคลินิกเลิกสุรา และปรึกษาแพทย์ กรณี...หากมีอาการถอนพิษสุรารุนแรง เช่น ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือชัก ควรปรึกษาแพทย์ทันที

เคล็ดลับเลิกเหล้าอย่างยั่งยืน หนึ่ง...หากิจกรรมทดแทน เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ สอง... เปลี่ยนสภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงสถานที่หรือบุคคลที่กระตุ้นให้ดื่ม

สาม...กำหนดรางวัลสำหรับความสำเร็จ เช่น การท่องเที่ยวหรือซื้อของที่ต้องการ

ตัวอย่างแรงบันดาลใจ...หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการเลิกเหล้าเริ่มต้นจากความตั้งใจเล็กๆและค่อยๆสร้างความมั่นคงในชีวิตใหม่ เช่น เกษตรกรในชุมชนที่เลิกเหล้าแล้วหันไปลงทุนทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ครอบครัวและชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“การเลิกเหล้าไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการลงทุนในสุขภาพ ชีวิตและความสัมพันธ์ การหักดิบอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหากมีการเตรียมตัวที่เหมาะสมและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ สู่ชีวิตที่ปลอดภัยสุขภาพดี”

...

ย้ำว่า...ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำและมีการหักดิบหยุดดื่มกะทันหัน ร่างกายจะปรับสภาพไม่ทัน ทำให้เกิดอาการอยากอย่างรุนแรงหรือเสี้ยน (craving) ซึ่งเมื่อกลับมาดื่มอีกครั้งจะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดดื่มได้

...ทำให้ดื่มมากกว่าที่เคยดื่ม เกิดพิษสุราแบบเฉียบพลันได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้สมาธิลดลง มึนงง ปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติช้าลง เสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อ กดการหายใจและการเต้นของหัวใจ ไม่รู้สึกตัว การหายใจช้าลงและอาจเสียชีวิตได้ โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณสุราที่ดื่มเข้าไป

แนะนำว่าครอบครัว...คนใกล้ชิดต้องสังเกตอาการ หากพบมีอาการเสี่ยงให้รีบพาไปพบแพทย์ “รักษาให้หาย...หรือรักษาให้ตาย”...กรณีเหตุเกิดที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม สะท้อนมุมมองส่วนตัว ทิ้งท้ายว่า

“...คนที่หักดิบเลิกเหล้าแล้วเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการลงแดง...ถือว่าเป็นคนป่วย ที่มีอาการผิดปกติ...กลับถูกเจ้าหน้าที่ห้องพยาบาลจับทุ่มและต่อยจนตาย...เขาดูแลคนป่วยเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพแบบนี้เหรอ... ชีวิตคนจน...ราคาถูกเสมอ”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม