ประเทศไทยถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมทำความเย็นที่สำคัญ ทั้งเป็นผู้ส่งออกส่วนประกอบและสินค้าที่เกี่ยวข้องอันดับต้น ๆ ของโลก แต่สารทำความเย็นสังเคราะห์อย่างสารทำความเย็นกลุ่มคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbons: CFCs) และกลุ่มไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrochlorofluorocarbons: HCFCs) นอกจากจะส่งผลให้เกิดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ยังมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนสูง ส่งผลให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมา

จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น นำไปสู่การสนับสนุนให้ผู้ผลิตหันมาใช้เทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียวและสารทำความเย็นธรรมชาติที่เรียกว่า “สารกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbons: HCs)” ซึ่งมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงร่วมกันจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น (EGAT Cooling Innovation Fund) หรือ กองทุน CIF เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยบริหารจัดการเงินทุนคงเหลือจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (Thailand Refrigeration and Air Conditioning Nationally Appropriate Mitigation Actions) หรือ โครงการ RAC NAMA ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเยอรมัน นำมาต่อยอดเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นไทยก้าวสู่เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กองทุน CIF สนับสนุนเงินทุนกว่า 190 ล้านบาท ให้กับหน่วยงานและโครงการต่าง ๆ ก่อให้เกิดการขยายเครือข่ายนวัตกรรมทำความเย็นสีเขียว

ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัยตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นสีเขียว

กองทุน CIF ได้สนับสนุนงบประมาณแก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เพื่อปรับปรุงห้องปฏิบัติการรองรับการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพพลังงานตู้แช่ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ สมรรถนะของตู้เก็บวัคซีน และรับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี เพื่อผลักดันและเตรียมความพร้อมของประเทศให้สามารถสร้างระบบการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเสียอันตรายได้อย่างปลอดภัย ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน

นายณรัฐ สุจิรัตน์ ผู้อำนวยการ สฟอ. เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันนวัตกรรมทำความเย็นสีเขียวของประเทศไทยไว้ว่า “กองทุน CIF ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้อย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ”

การฝึกอบรมจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี
การฝึกอบรมจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี

ส่งต่อองค์ความรู้ พัฒนาช่างฝีมือ

กองทุน CIF ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรมทำความเย็นสีเขียวให้กับครูช่าง และช่างเทคนิค ทั้งวิธีการใช้สารทำความเย็น การเติม การดูดอากาศและความชื้นจากระบบ เพื่อช่วยให้คนไทยใช้สารทำความเย็นธรรมชาติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติกว่า 17 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาฝึกอบรมครูช่างและช่างฝีมือกว่า 820 คน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็นธรรมชาติ และการจัดการสารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย

หนุนคนไทยหันมาใช้สารทำความเย็นสีเขียว

สำหรับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมเพื่อรณรงค์ให้คนไทยและผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้สารทำความเย็นธรรมชาติมากขึ้น กองทุน CIF ได้สนับสนุนโครงการต้นแบบที่แสดงให้ผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีการทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและติดตั้งตู้แช่เชิงพาณิชย์และตู้แช่เย็นแสดงสินค้า ส่งเสริมให้เกิดการใช้ตู้เย็นฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมกระบวนการจัดการซากเครื่องปรับอากาศและสารทำความเย็นอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติให้แก่ประชาชน อีกทั้งการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และยังทำให้ตู้เย็นมีประสิทธิภาพพลังงานสูงขึ้น ช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 5 – 25% ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงด้วย

ดร.อนันต์ วัชรพงษ์วินิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายก่อสร้างและบริหารทรัพยากรอาคาร บริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม็คโครและโลตัสได้นำร่องใช้โครงการระบบทำความเย็นประสิทธิภาพสูง (Water-Loop Cooling System) และน้ำยาทำความเย็นประสิทธิภาพสูง (Green Refrigerants) พบว่า สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 14% และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 95%

ระบบทำความเย็นประสิทธิภาพสูง (Water-Loop Cooling System)
ระบบทำความเย็นประสิทธิภาพสูง (Water-Loop Cooling System)

นอกจากนี้กองทุน CIF ยังสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีทำความเย็นสีเขียว อาทิ โครงการสาธิตตู้แช่เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการพัฒนาระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น โครงการผลิตไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์กับระบบปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ รวมถึงรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้จากการดำเนินงานของกองทุน CIF และแหล่งต่าง ๆ นำมาเผยแพร่

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี จากการดำเนินการของกองทุน CIF คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 40,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality