ตอนท้ายของหมายเหตุเฟซบุ๊กกุสุมา 80 ฉบับ ที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ กุสุมา รักษมณี เขียนไว้เมื่อ 11 ก.ย.2566 ว่า หลังการคุยนัดเพื่อนๆไปเที่ยวด้วยกัน ก็นึกถึงเพื่อนสามคนในกลุ่ม ที่มีลักษณะแตกต่างกัน คนแรกเหมือนเสือ คนที่สองเหมือนแพะ และคนที่สามเหมือนมะเขือ
โดยธรรมชาติ เมื่อเสือเจอแพะ เสือก็กินแพะ เมื่อแพะเจอมะเขือ แพะก็จะกินมะเขือ ที่น่าสงสารคือเพื่อนที่ถูกเปรียบเป็นมะเขือไม่ได้อะไรกับเขา
นึกถึงสามเพื่อนแล้วก็นึกไปถึงสมัยเป็นนักเรียน เคยเล่นทายหาทางออกให้ชาวไร่
เรื่องสมมติมีว่า ชาวไร่มีเหตุที่จะต้องนำเสือ แพะ และมะเขือหนึ่งตะกร้าลงเรือข้ามฝั่งแม่น้ำไปให้โดยทุกฝ่ายปลอดภัย กติกา
ถ้าปล่อยไว้ตามลำพัง แพะจะกินมะเขือ และเสือจะกินแพะ
ข้อจำกัด ชาวไร่มีเรือขนาดเล็กลำเดียว พอจุคนหนึ่ง กับสัตว์หนึ่ง และสิ่งของได้อีกหนึ่ง
เรื่องที่ชาวไร่จะต้องใช้ปัญญาจะทำอย่างไรจึงจะลำเลียงเสือ แพะ และมะเขือข้ามไปอีกฟากได้ทั้งหมด
อาจารย์กุสุมาจำได้ ตอนนั้นเพื่อนๆช่วยกันคิด ในห้องเรียนหาอะไรแทนไม่ได้ ก็เอาปากกา ดินสอ และยางลบ แทนทั้งสามสิ่ง แล้วสมมติกัน แต่ละเที่ยวจะพาอะไรไปก่อน อย่างไร
ถ้าเที่ยวแรก เอาแพะข้ามไปก่อน ปล่อยเสือไว้กับมะเขือ ไม่เป็นไร
แต่เที่ยวที่สองนี่สิมีปัญหา ถ้าเอามะเขือไปวางบนฝั่ง ที่แพะอยู่ พอชาวไร่คล้อยหลังพายเรือกลับไปรับเสือ แพะก็จะกินมะเขือสบายปาก
ลองใหม่ เที่ยวสองเปลี่ยนเป็นเอาเสือไป แต่พอชาวไร่ข้ามกลับไปเอามะเขือ ก็เปิดช่องให้เสือจัดการกับแพะ
งานนี้ ช่วยๆกันคิดหลายๆคน ในที่สุดก็เจอทางออก เที่ยวแรกเอาแพะลงเรือข้ามฟากไป เที่ยวสองเอามะเขือไป แต่เที่ยวนี้ ก่อนกลับเอาแพะกลับไปด้วยเอาไปไว้ฝั่งเดิม
...
เที่ยวที่สาม เอาเสือลงเรือข้ามไปอยู่กับมะเขือ
แล้วก็ถึงเที่ยวสุดท้าย จึงไปรับแพะลงเรือข้ามฟากมา
เป็นอันว่าทางออกที่ชาวไร่จะทำได้โดยไม่เสียเสือ แพะ และมะเขือเลย ก็คือต้องเหนื่อยขึ้นอีกหน่อย เสียเวลาเพิ่มเที่ยวเรือ
อ่านเรื่องที่อาจารย์กุสุมาว่าเล่นสมัยเป็นนักเรียน ผมเดาเอา
คงเล่นกันในโรงเรียนนักเรียนหญิง...ผมเป็นนักเรียนชาย อายุรุ่นไล่หลังอาจารย์กุสุมาปีสองปี หรือจะเป็นโรงเรียนบ้านนอก ไม่เคยมีวี่แววเล่นเรื่องนี้มาเข้าหูเลย
เด็กนักเรียนชาย เวลามีปัญหาตัดสินอะไรไม่ได้ ก็พยักหน้า เล่นปักเป้ายิงฉุบ...ยังพอจำกันได้บ้างละน่า! ร้องพร้อมๆกัน ยันยิงเยา ปักเป้ายิงฉุบ แล้วสองฝ่ายก็ทำมือออกมา ชนกัน
กติกา...ถ้ากำหมัด ก็เป็นค้อน ถ้าอีกฝ่ายชูสองนิ้ว เป็นกรรไกร ค้อนก็ทุบกรรไกรหัก ถ้าอีกฝ่ายแบมือ สมมติเป็นกระดาษ กระดาษก็ห่อค้อน ชนะค้อน
ถ้าอีกฝ่ายแบมือเป็นกระดาษ อีกฝ่ายเป็นกรรไกร กรรไกรตัดกระดาษชนะกระดาษ
แต่ส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนชาย ไม่ค่อยมีเรื่องให้เล่นปักเป้ายิงฉุบ หรอกครับ...โดยปกตินิสัย ไม่พอใจ ก็ท้าชกกันไปเลย แพ้ชนะก็แล้วแต่ ใครจะหมดแรงก่อนหรือมีกติกาใช้กรรมการตัดสิน
ข้อดีแรกของการเล่นเสือ แพะ มะเขือ แบบของนักเรียนหญิง หรือเล่นปักเป้ายิงฉุบ แบบนักเรียนชาย ก็คือทดสอบความไวของการตัดสินใจ
ข้อดีต่อมาก็คือ สอนให้รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งอยู่คนเดียว
พลเรือนหาเสียงเก่ง เรียกมวลชนมาเลือก หรือลงถนนได้ แต่เหิมเกริมเกินไป ทหารเขาก็มักขี่รถถังออกถนน
ผมอยู่มาจนแก่ผมหงอกแล้วก็ยังเห็นเขาสนุกเล่นปักเป้ายิงฉุบ กันอยู่ ไม่มีท่าว่าจะเบื่อสักที.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม