ดูชื่อหนังสือชื่อ “เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ รอฮีม ปรามาส” สำหรับผมนี่คือหนังสือสาระหนัก
แต่ดูจากสถิติการพิมพ์ มติชน พิมพ์ครั้งที่ 1 ถึง 4 พ.ศ.2546 ถึง 2547 โพสต์บุ๊กส์ พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2554 และ “แสงดาว” พิมพ์ครั้งล่า ครั้งที่ 6 พ.ศ.2567 โว้ย! นี่คือหนังสือขายดี
เมื่อคนอื่นๆอ่านได้ ผมก็ขอกัดฟันอ่านด้วย
เจอหน้าไหนวรรคใดสะดุดใจก็เอากระดาษคั่น...หัวข้อ จักรวาลวิทยายุคใหม่ หน้า 311-312 ตรงใจมาก
แต่ก็นั่นแหละ แต่ละเรื่องแต่ละวรรค ลึกซึ้ง ซับซ้อน เข้าใจยาก ผมอยากแสดงภูมิว่าอ่านแล้วหนา! จะเอามาขยายต่อแต่ก็ลืม
วันนี้ อ่านอีกที...พยายามแน่ใจว่าแฟนๆพันธุ์แท้ และแฟนๆ พันทางคงพอเข้าใจ เริ่มกันที่บรรทัดต่อไปนี้
ด้วยการประสานกันระหว่างความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์ ในการสร้างสัญลักษณ์ข้อมูลกับเทคโนโลยีพันธุกรรมที่ปรับแต่งข้อมูล นักวิทยาศาสตร์หลายคนถือว่านี่คือจุดบรรจบของศักยภาพสองด้านภายในตัวมนุษย์
ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อการดำรงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์
เทคโนโลยีใหม่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของช่างศิลป์ พอๆกับเครื่องมือของวิศวกร การดัดแปลงยีนกลายเป็นเรื่องที่พึงประสงค์ และมีความสง่างาม ไม่ใช่ความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม
เมื่อเราได้สร้างภาพว่าคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีพันธุกรรม เป็นจุดบรรจบของศาสตร์และศิลป์ ทำให้เกิดภาพลวงตาว่ายุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงเป็น “ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการครั้งใหม่”
เป็นการกลับคืนมาของคุณค่าสูงสุด บวกด้วยอรรถประโยชน์สูงสุด
แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่ามนุษย์กำลังพยายามบิดเบือนธรรมชาติและความเป็นศิลป์
ศิลปะที่แท้จริงจะมุ่งเสนอความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ โดยถ่ายทอดจากประสบการณ์ของจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ เป็นการส่งผ่านการหยั่งรู้และความรู้สึกในส่วนลึกที่สุดเกี่ยวกับความจริงแท้ เท่าที่มนุษย์จะสามารถสัมผัสได้ เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้
...
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตรวจสอบและพัฒนาจิตวิญญาณของตนเอง
ศิลปะโดยเนื้อแท้ก็คือ สิ่งที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด ตั้งแต่เราเริ่มมีปัญญาและจิตสำนึก เป็นรูปแบบการสื่อสารทางนามธรรม ที่มีความรัก ความงาม และความจริงแท้ภายในตัวเราเป็นพื้นฐาน
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของภาษา รูปวาด ภาพสลัก หรือรูปแบบอื่นใด ล้วนตรงข้ามกับการแสดงซึ่งพลังอำนาจที่มุ่งแต่จะครอบครองธรรมชาติและเอกภพ
เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุกรรม อาจจะเป็นพลังอำนาจสุดยอดของมนุษย์ในการควบคุมธรรมชาติ และเป็นความก้าวหน้าทางกระบวนการข้อมูลอันนำไปสู่สติปัญญาในการสร้างสรรค์
แต่สิ่งเหล่านี้ เป็นศิลปะที่แท้จริงหรือไม่ เป็นหนทางนำไปสู่จุดหมายที่แท้จริงของมนุษย์ใช่หรือไม่
หรือเป็นเพียงแต่ภาพลวงตาที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อฉกฉวยประโยชน์จากธรรมชาติ เหมือนที่ผ่านๆมา
และในที่สุดก็เป็นการทำลายตัวเองและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
ผมหยุด ข้อเขียนที่รอฮีม ปรามาส เรียบเรียงไว้แค่นี้ นี่ขนาดหนังสือเล่มนี้ ที่ยังไม่พูดถึง เอไอ ที่กำลังเข้ามาช่วยคิด ช่วยทำอะไรต่อมิอะไรแทนคน
คนแก่รุ่นผม ตอนนี้เดินออกนอกบ้าน ก็กลัวว่าเงินในกระเป๋าจะใช้ซื้ออะไรไม่ได้ เคยคิดเสมอๆก็ถ้าโลกก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้ แล้วคนจะอยู่กันต่อไปอย่างไร เพิ่งได้ยินเต็มหูจากผู้ที่รู้มากกว่า ในที่สุด ก็เป็นการทำลายตัวเองและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม