ประเทศไทยไชโยโห่ฮิ้ว ยูเนสโก ประกาศ “ต้มยำกุ้ง” และชุด “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไทยชู “ต้มยำกุ้ง” เมนูยอดฮิตคนทั่วโลกต้องลิ้มลองและต้องเป็นอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำที่มาเยือนไทย นายกรัฐมนตรีดีใจ กล่าวผ่านวีดิทัศน์กลางที่ประชุมขอบคุณ ผู้ประเมินและคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯที่พิจารณา เห็นชอบให้ “ต้มยำกุ้ง” ได้รับการขึ้นทะเบียน กระทรวง วัฒนธรรมเตรียมฉลองยิ่งใหญ่ 6 ธ.ค. ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ พร้อมโชว์ “เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ” ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาร้านอาหารใต้ที่โด่งดัง “ศรณ์” คว้ารางวัลสามดาวมิชลินแห่งแรกของโลก
ที่นครอซุนซิออน สาธารณรัฐปารากวัย เมื่อเวลา 02.15 น. (ตามเวลาประเทศไทย) วันที่ 4 ธ.ค. องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 และมีมติประกาศรับรองให้ “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยนำเสนอ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทบัญชี “รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” มีผู้แทนของประเทศต่างๆ ร่วมปรบมือแสดงความยินดีอย่างกึกก้อง
ในที่ประชุมได้ฉายวีดิทัศน์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ที่กล่าวขอบคุณคณะผู้ประเมิน รวมทั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ที่พิจารณาเห็นชอบให้ “ต้มยำกุ้ง” ได้รับการขึ้นทะเบียน พร้อมประกาศว่าไทยมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะสนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกประเทศในการส่งเสริม รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในฐานะเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งได้เชิญชวนให้ลองชิมต้มยำกุ้งที่ร้านอาหารไทยทั่วโลก หรือค้นหาสูตรทางออนไลน์เพื่อลองทำต้มยำกุ้งที่บ้าน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในที่ประชุมด้วย
...
ค่ำวันเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯได้พิจารณาให้ชุด “เคบายา” ที่ไทยเสนอร่วมกับมาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ขึ้นทะเบียนเป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ประเภทบัญชี “รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” ด้วยเช่นกัน
น.ส.วราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้นำคณะผู้แทนไทย ร่วมเข้าประชุม กล่าวว่า ไทยนำเสนอต้มยำกุ้งเป็น “กับข้าว” ที่คนในชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำในพื้นที่ภาคกลาง นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นอาหารสุขภาพ ชื่อ “ต้มยำกุ้ง” เกิดจากการนำคำ 3 คำ มารวมกันได้แก่ “ต้ม” “ยำ” และ “กุ้ง” ปัจจุบันการทำต้มยำกุ้งมีการสืบทอดแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ถือเป็น Soft power ด้านอาหาร เมนูสำคัญของประเทศไทย ที่กระทรวงพร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเมนูยอดนิยมของคนทั่วโลก ส่วน “เคบายา” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับไทย เคบายาปรากฏอยู่ในเนื้อหาของรายการ “การแต่งกายบาบ๋า-เพอรานากัน” เป็นเสื้อสตรีผ่าหน้าประดับด้วยดิ้น ลูกไม้ฉลุหรือปักลวดลายตัดเย็บอย่างประณีตสวยงาม นิยมสวมใส่กับผ้าโสร่งหรือผ้าปาเต๊ะที่มีสีและลวดลายที่เข้าชุดกัน
ด้าน น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงมีแนวทางการส่งเสริมต่อยอดต้มยำกุ้งเป็นเมนูหลัก เป็นอาหารต้องชิมเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย พร้อมบรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยวเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง สร้างการรับรู้ถึงคุณค่าสาระของเมนูต้มยำกุ้ง ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ระหว่างวันที่ 6-8 ธ.ค. ที่ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ในงานพบกับเชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ ผู้สร้างประวัติศาสตร์พาร้านอาหารไทย “ศรณ์” คว้ารางวัลสามดาวมิชลิน แห่งแรกของโลก สาธิตการทำต้มยำกุ้ง โดยเชฟตุ๊กตา (ครัวบ้านยี่สาร) พร้อมให้ชิมต้มยำกุ้งฟรี การแสดงแฟชั่นโชว์ชุดเคบายา นิทรรศการ “ต้มยำกุ้ง” นิทรรศการ /สาธิตการปักชุด-เครื่องประดับเคบายา อาหารเพอรานากัน จาก จ.ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง สตูล การแสดงดนตรีและการแสดงทางวัฒนธรรม
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่