ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านการจัดการ “ขยะรีไซเคิล” ที่สะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับความจริงที่ว่า...ปัญหานี้เกิดจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค การจัดการขยะต้นทาง ระบบการคัดแยกและรีไซเคิลขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
เริ่มจาก...ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก กระดาษ และโลหะ สะสมมากขึ้น
โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่มีปริมาณมากถึง 2 ล้านตันต่อปี แต่สามารถรีไซเคิลได้เพียง 25% เท่านั้น
ถัดมา...การแยกขยะต้นทางที่ไม่เพียงพอ คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และนิสัยในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้น ทำให้ขยะที่ควรนำไปรีไซเคิลปนเปื้อนกับขยะทั่วไป จนไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาม...ขาดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงงานรีไซเคิลหลายแห่งยังใช้เทคโนโลยีล้าสมัย ทำให้ไม่สามารถ รองรับขยะรีไซเคิลจำนวนมากได้ นอกจากนี้การขาดพื้นที่รองรับการคัดแยกและจัดเก็บ ยังทำให้ขยะถูกทิ้งอย่างไม่ถูกวิธี
สี่...ตลาดรีไซเคิลที่ไม่เสถียร ราคาขยะรีไซเคิลในตลาดโลกที่ผันผวน ส่งผลต่อแรงจูงใจของผู้ประกอบการในการรีไซเคิลและผู้เก็บของเก่าในการจัดเก็บขยะอย่างเหมาะสม
ห้า...การนำเข้าขยะจากต่างประเทศ แม้จะมีการลดการนำเข้าขยะพลาสติก แต่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่รับขยะจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อระบบจัดการขยะในประเทศ
ฉายภาพตอกย้ำผลกระทบปัญหาขยะรีไซเคิลล้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม...ขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมอาจกลายเป็นมลพิษทางดิน น้ำ อากาศ ส่งผลต่อระบบนิเวศ...สุขภาพของประชาชน
ทำให้เสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรซ้ำ เพราะขยะที่ไม่ถูกแยกหรือจัดการอย่างเหมาะสมทำให้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้สูญเสียมูลค่า อีกทั้งทำให้ต้นทุนการจัดการที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นในการจัดเก็บและกำจัดขยะเหล่านี้ ซึ่งกระทบต่องบประมาณประเทศ
...
“ประเทศไทย”...มีศักยภาพในการจัดการขยะรีไซเคิลได้ดีกว่านี้หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ การปลูกจิตสำนึก...พัฒนาระบบที่เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาขยะรีไซเคิลล้น และสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ในมิติปัญหาภาพใหญ่ก็มีปัญหาภาพย่อยที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ประเด็น...โรงงานกำจัด คัดแยก และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ตั้งได้ง่ายในประเทศไทยเพราะอะไร? จุดอ่อนอยู่ตรงไหน?
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกว่า ในรอบปี 2567 ที่ผ่านมา มีโรงงานประเภท 101 105 106 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนมากกว่า 20 แห่ง ทั้ง...ปล่อยน้ำเสีย มีกลิ่นเหม็น ไฟไหม้ และแอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้ง
“ทิ้งกันทั้งนอกสถานที่และสะสมไว้ในโรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่มาจากประเทศจีน”
โรงงานอุตสาหกรรมประเภทปรับของเสียรวม คัดแยกและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม (ประเภท 101,105,106) เพิ่มขึ้นในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรีและระยอง รวมกันถึง 587 แห่ง โดยเป็นโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559
หมายถึง...ตั้งได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายผังเมืองถึง 254 แห่ง
ทำไมจึงตั้งขึ้นมาได้ง่าย? การขออนุญาตตั้งจะต้องยื่นขอความเห็นชอบจากอุตสาหกรรมจังหวัดและกรมโรงงานฯก่อน มีขั้นตอนคือการสำรวจทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อม เตรียมเอกสารการผลิต เอกสารผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนที่จะอนุมัติอนุญาต
แต่...กระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนทำโดยแค่ปิดประกาศเอกสารดังกล่าว ณ ที่ทำการของหน่วยราชการในพื้นที่ 3 แห่ง เป็นเวลา 15 วัน หากไม่มีประชาชนใดคัดค้านก็ถือว่าเห็นด้วย สามารถทำการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือใบ รง.4 ได้เลย...สุดท้ายประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยมารู้ทีหลัง คัดค้าน ประท้วง
เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2562 เป็น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ได้มีการกำหนดคำนิยาม “การตั้งโรงงาน” หมายความว่า การก่อสร้างอาคารเพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานหรือนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการ
ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการจึงสามารถสร้างอาคารเตรียมไว้ก่อนได้เลยโดยขออนุญาตท้องถิ่นก่อน
...
หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีส่วนในการอนุญาตคือการออกเอกสาร อ.1 คือ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารให้แก่ผู้ประกอบการ โดยไม่ได้รับฟังความเห็นของประชาชน
ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างอาคารโรงงานเสร็จแล้วเพียงแค่รอแต่ใบ รง.4 เพื่อจะได้นำเครื่องจักรมาติดตั้งจัดทำเป็นโรงงานต่อไป...การทำงานไม่สัมพันธ์กันของอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นระหว่างใบ รง.4 และใบ อ.1 ของใครควรจะมาก่อนกัน...จึงเป็นปัญหาอย่างมาก
พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2562 กำหนดให้ไม่ต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตอีกต่อไป (เดิมต้องต่ออายุทุก 5 ปี) ทำให้การตรวจสอบโรงงานเพื่อขอต่อใบอนุญาตไม่มีอีกแล้ว มาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่างๆจึงอาจล้าสมัย ทำให้โรงงานหลายแห่งอาจละเลยที่จะป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อลดต้นทุนลง
...ที่ผ่านมา “ประเทศไทย” ในหลายพื้นที่จึงกลายเป็นแหล่งของ “โรงงานชั้นเลว” และ “โรงงานสีเทา” ของต่างชาติ...ที่หน่วยงานราชการต้องตามล้างตามเช็ดกันทุกวัน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม
...