เมื่อเริ่มเป็นนักข่าวปี 2513 ผมอ่าน วิชาการประพันธ์เบื้องต้น อาจารย์เปลื้อง ณ นคร อ่าน ตำราถ่ายภาพอาจารย์สนั่น ปัทมะทิน แต่เล่มที่อ่านก่อน คือปากกาทอง ของพิชัย โอตตรดิตถ์ วิทยายุทธ์นักเขียน เล่มนี้พิมพ์ปี 2495 เล่ม “ปากกาทอง” นี่แหละ ผมเรียนรู้ เทคนิคหนึ่งในการเขียนเรื่องสั้น หัวข้อ “นัยประวัติ”

ตัวอย่าง หากจะมีการยิงกันท้ายเรื่อง...ตอนต้นเรื่องต้องเขียนบอกนัยไว้ก่อน ปืนวาง หรือซ่อนที่ไหน?

วันนี้ได้อ่าน หมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 หัวข้อ ชอบแต่จดเล็กจดน้อย ศาสตราจารย์เกียรติคุณกุสุมา รักษมณี เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2565 อาจารย์เขียนไว้ ดังต่อไปนี้

เป็นคนไม่มีระเบียบเลยเรื่องการจัดเก็บเอกสาร เวลาประชุมหรือสอนหนังสือ ชอบจดอะไรใส่กระดาษเล็กๆ ใกล้มือ แล้วก็สอดไว้ในสมุด แฟ้ม หนังสือ เท่าที่อยู่ตรงหน้า

เมื่อมาทบทวนดูแล้ว ให้นึกเสียดาย คงจะพลาดอะไรมาเยอะทีเดียว ที่เก็บๆซุกๆเอาไว้อย่างนั้น จนหลงลืม

ลูกหลานและลูกศิษย์อย่าได้เอาเยี่ยงอย่าง วันนี้ค้นเจอ “สารในเศษ” ที่ซุกไว้บางเรื่อง

1.จดหมายน้อยที่ส่งให้ท่านอาจารย์วิสุทธิ์ในที่ประชุมชำระพจนานุกรม นั่งอยู่ถัดมาทางขวามือของท่าน จะพูดจะถามก็ไม่ได้ เพราะกำลังประชุม จึงใช้วิธีเขียนลงกระดาษแผ่นเล็กพับส่งให้ท่าน แล้วท่านก็เขียนตอบกลับมา

เรามักจะเขียนเรื่องนี้ในที่ประชุม ที่จริงก็ดูเป็นมารยาทที่ไม่เหมาะนักสำหรับผู้น้อย

เรียนถามท่านว่า คำว่า จักรี ที่เป็นนามพระราชวงศ์จะหมายถึง จักร+กรี ได้ไหมคะ เพราะเห็นตราสัญลักษณ์มีรูปจักรและตรี หรือจะหมายถึงผู้ทรงจักร (จักริน)

ท่านตอบว่า ผมก็เคยได้ยินเช่นนั้น ผมเข้าใจว่า เดิมคงหมายถึง จักริน=จักรี แต่เพราะ Popular etymology เลยกลายเป็นจักตรี ดูเหมือน อ.สุมนชาติจะพูดไว้อย่างนี้ ผมก็ฟังตามนี้ และเคยคิดอย่างนี้เรื่อยมา

...

แต่กลับกัน เดิมคือ จักร+ตรี แล้วกลายเป็นจักรี ก็อาจจะเป็นได้

2.ครั้งหนึ่งประชุมพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมอังกฤษ ในเอกสารมีตัวอย่างคำประพันธ์ของ Malow ว่า Come live with me and be my love ท่านประธาน (อาจารย์หญิงกุหลาบ) เอ่ยขึ้นมาทำนองว่า ของไทยเรามีวิธีชักชวนเก๋ไปอีกแบบว่า

“มีผัวเสียเถิดอีแดง ปีหน้าผัวแพงรู้ไหม เขาเลือกทหารกันออกกลุ้มๆจะไปหาหนุ่มๆที่ไหน”

3.ครั้งหนึ่งสอนเรื่อง รามายณะ (เมื่อ 22 ก.ค.41) อธิบายเป้าหมายชีวิตมนุษย์ (ปุรุษารถะ) ตามคติอินเดียที่เป็นแนวคิดสำคัญในมหากาพย์เรื่องนี้ แล้วถามนักศึกษาว่า “ปุรุษารถะ” ของนักศึกษาคืออะไร

จำได้เลาๆว่า นักศึกษาอึ้งไปนาน กว่าจะตอบว่า “ความสุข”

แล้วก็เจอคำถามของครูต่ออีกว่า “ความสุขของพวกเธอคืออะไรล่ะ” ป่านนี้หาคำตอบกันได้หรือยังก็ไม่รู้

บันทึก “สารในเศษ” ของอาจารย์กุสุมาจบแค่นี้ ศิษย์ที่ไม่เคยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พื้นการศึกษาต่ำ หลายประเด็นตามไม่ทันความนัยที่อาจารย์ตั้งใจสื่อ

แต่พื้นความรู้เรื่อง “นัยประวัติ” ช่วยให้พอเข้าใจ อาจารย์กุสุมาเป็นผู้ใหญ่ ท่านรู้คำตอบ “ความสุขของนักศึกษาอยู่ที่ไหน” แต่ท่านไม่บอกตรงๆ

ตอนที่ท่านอ้างอาจารย์กุหลาบ ยกกลอน “มีผัวเถิดอีแดง ปีหน้าผัวแพงรู้ไหม เขาเลือกทหารกันออกกลุ้มๆจะไปหาหนุ่มๆที่ไหน” ออกมา ศิษย์นอกตำราอย่างผมก็ฮาตรึม

ทั่วโลกมองที่ไหนก็เจอเงื่อนสงคราม...ใกล้นิวเคลียร์เต็มที รอบรั้วบ้านมีปัญหาทั้งเขมร พม่า มองในบ้าน เออ! นี่เขาก็ฮึ่มฮ่ำ จะเดินขบวนเรียกทหารออกถนน

ผมตอบคำถามอาจารย์แทนนักศึกษา“ความสุขของคนหนุ่มสาวก็อยู่ที่การมีผัวมีเมีย” จะมัวโยกเยกโยเย อยู่ช้าไย...เดี๋ยวสงครามนิวเคลียร์มาหาไม่ทันนะพวกเธอ.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม