เพลงของพ่อคือบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “อัครศิลปิน” ที่ทรงเป็นสังคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง

เพลงของพ่อ มีหลากหลายลีลาทั้ง เพลงที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมของชีวิตจริง อย่าง “ชะตาชีวิต” หรือ “แสงเทียน” เพลงที่มีชีวิตชีวา อย่างเพลง “ยามเย็น” หรือ “ใกล้รุ่ง” เพลงที่มีความสง่างามแต่อ่อนโยน เช่น “สายฝน” หรือ เพลงที่มีเนื้อหาพรรณนาเปรียบเทียบความรักกับธรรมชาติ อย่างเพลง “ลมหนาว” เพลงที่ให้ความรู้สึกมีความสุขและมีความหวังว่าปีใหม่นี้จะมีแต่เรื่องดีๆเข้ามาในชีวิต อย่าง “พรปีใหม่” และ เพลงที่ให้กำลังใจ อย่าง “ยิ้มสู้” ตลอดจน เพลงที่มีความหมายอันลึกซึ้งกินใจสำหรับชาวไทยที่รักชาติรักแผ่นดินทุกคน เช่น เพลง “ความฝันอันสูงสุด” เป็นต้น

เพลงของพ่อ นอก จากสร้างความสุขสำราญให้ประชาชนแล้ว นัยของบทเพลงยังสะท้อนแนวพระราชดำริในการสร้างความดีและการเข้าใจในชีวิตอย่างแยบยลผ่านดนตรีและบทเพลงอีกด้วย

...

เพลงพระราชนิพนธ์ จำนวน 49 เพลง จึงผูกพันกับคนไทยและสังคมไทยมาอย่างยาวนานตลอดการครองราชย์กว่า 70 ปี และจะคงอยู่ตลอดไปในโอกาส วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญถึง 3 โอกาส ด้วยกันคือ เป็นทั้ง วันคล้าย “วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และเป็น “วันชาติ”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงจัด งานแสดงดนตรีเทิดพระเกียรติ ดนตรีในสวน H.M.Song : อว.บรรเลง “เพลงของพ่อ” ประจำปี 2567 เพื่อแสดงดนตรี บรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั่วประเทศเพื่อเทิดพระเกียรติและเพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์

“งานดนตรีในสวน H.M. Song : อว. บรรเลงเพลงของพ่อ จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ มาบรรเลงให้ประชาชนรับฟังและจัดแสดงอย่างพร้อมเพรียงกันใน 53 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 5 ธันวาคมเพื่อส่งมอบความสุขให้คนไทยทั่วประเทศผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยฝีมือการบรรเลงของนิสิต นักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบวงซิมโฟนีออเคสตรา วงดนตรีสากล วงดนตรีไทย วงดนตรีพื้นบ้าน โฟล์กซอง ฯลฯ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยคนรุ่นใหม่” น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.กล่าวถึงการจัดการแสดงดนตรี อว.บรรเลงเพลงของพ่อ

การแสดง H.M.Song : อว. บรรเลงเพลงของพ่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 5–7 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก 9 สถาบันอุดม ศึกษา นอกจากนี้ยังมีการแสดง โขนเทิดพระเกียรติ ตอน “พระรามตรวจพลยกรบ” การแสดงโดรนเฉลิมพระ เกียรติ การแสดงนิทรรศการช่าง 10 หมู่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยหรือ Digital Gallery บูธจำหน่ายสินค้าของนิสิตนักศึกษา เป็นต้น

...

ขณะที่ต่างจังหวัดก็จะจัดแสดงพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ณ สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัด

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 ธันวาคม เวลา 18.00 น. ทุกวงดนตรีของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และประชาชนที่มาชมจะร้องเพลงชาติร่วมกัน หลังจากนั้นจะมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และตามด้วยเพลงสดุดีจอมราชาและบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย

บทเพลงพระราชนิพนธ์ถือเป็นของขวัญพระราชทานอันล้ำค่า เปรียบเสมือนคำสั่งสอนของพ่อผ่านเสียงเพลงให้พวกเราก้าวตามตลอดไปตราบกาลนาน.

ทีมข่าวอุดมศึกษา