เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง ผมมีโอกาสกลับไปดู “โขน” ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน “พระจักราวตาร” อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ไปดูครั้งแรก หรือรอบแรก ที่เรียกว่า “รอบสื่อมวลชน และรวมญาตินักแสดง” ซึ่งเป็นรอบที่จัดให้ “สื่อมวลชน” และญาติสนิทมิตรสหายของผู้แสดงต่างๆดูชมก่อนจะเริ่มแสดงจริง

ท่านผู้อ่านคงจำได้ ผมเขียนแสดงความชื่นชมเอาไว้เต็มคอลัมน์ พร้อมกับเชิญชวนแฟนๆโขนทั้งหลายไปให้กำลังใจ และช่วยกัน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ให้โขนไทยของเราอยู่ยั้งยืนยงเคียงคู่ประเทศไทยของเราไปตราบนานเท่านาน

ต่อมาก็ทราบว่า ด้วยความงดงามของโขนตอนนี้ จึงมีการพูดกันแบบปากต่อปาก ทำให้พี่น้องประชาชนและเด็กนักเรียน ซึ่งมีการจัดรอบนักเรียนขึ้นด้วย ไปให้กำลังใจกันอย่างแน่นขนัดทุกรอบ

สำหรับรอบที่ผมไปดูเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เป็น “รอบเหมา” ของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครับ...ได้รับอภินันทนาการจากคุณ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ส่งบัตรมาให้ผมกับครอบครัวชุดหนึ่ง จึงตัดสินใจไปดูซํ้าอีกครั้ง

ปรากฏว่าดูแล้วดื่มด่ำกว่าครั้งที่ 1 อีกหลายเท่าตัวเลยครับ

อาจเป็นเพราะนักแสดงต่างๆมีความช่ำชองมากขึ้นแล้วหลังจากแสดงติดต่อกันมาหลายวัน...ในขณะที่ฝ่ายจัดฉากจัดเทคนิคก็ชำนาญการมากขึ้นสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวไม่ติดขัด

ในโขนชุดนี้นอกจากจะมีฉากสวยสดงดงามกว่าทุกครั้งที่เคยแสดงมาแล้ว ยังสมมติว่าพระรามสามารถสังหารทศกัณฐ์ได้เรียบร้อย พร้อมได้นางสีดากลับคืนสู่อโยธยาและขึ้นครองอโยธยาในที่สุด

จึงมีฉากเฉลิมพระเกียรติ “พระจักราวตาร” ในฉากสุดท้ายด้วยการร่ายรำถวายพระพรทั้งภาคพื้นดินและบนสวรรค์อย่างสวยงามอลังการตามสไตล์ของโขนศิลปาชีพฯเป็นการส่งท้าย

...

แต่เท่าที่จำได้ว่า “รามเกียรติ์” ของไทยเรามิใช่จบเพียงเท่านั้น ยังมีตอนสีดาลุยไฟพิสูจน์ความซื่อสัตย์ของสีดาก่อนกลับคืนสู่อ้อมอกพระราม หลังจากไปถูกกักตัวที่ลงกาเป็นเวลานาน

จากนั้นก็ยังมีปีศาจยักษ์ตนหนึ่งแปลงร่างมาเป็นคนใช้ ขอให้สีดาวาดรูปทศกัณฐ์ให้เธอดู...นางสีดาวาดเสร็จยังไม่ทันลบ พระรามก็มาพบเข้าพอดี

ทำให้พระรามเข้าพระทัยผิดคิดว่านอกใจ สั่งประหารนางสีดา แต่พระลักษมณ์ไม่ประหารปล่อยนางไปอยู่กับพระฤาษีตนหนึ่ง และประสูติพระโอรสที่เกิดจากพระรามองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระมงกุฎ

ยาวต่อไปจนถึงพระรามมาเจอพระมงกุฎสู้รบกันไม่แพ้ชนะ “ศรศิลป์ไม่กินกัน” จึงรู้ว่าเป็นพ่อลูก ขอคืนดีกับนางสีดา แต่นางไม่ยอม หนีต่อไปเมืองบาดาล

จนในที่สุดพระอิศวรต้องมาไกล่เกลี่ยจนนางสีดาใจอ่อน จึงยอมกลับไปครองอโยธยาด้วยกันแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

จากเรื่องที่ยาวเหยียดเช่นนี้ทำให้เรามีคำพูดอุปมาอุปไมย อยู่วลีหนึ่งว่า “ยาวเป็นรามเกียรติ์” สำหรับนิทานหรือนิยาย หรือการเล่าเรื่องอะไรก็ตามที่ยาวมากกว่าปกติ

การแสดง “โขน” เรื่องรามเกียรติ์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย คงจะมีต่อไป จบตอนนี้ในวันที่ 8 ธันวาคมแล้ว ก็คงจะมีตอนอื่นอีก เพราะยังมีเรื่องเล่าได้อีกยาวเหยียดอย่างที่ว่า

จะเป็นตอนไหน ช่วงไหน แสดงเมื่อไร คนไทยเราคงจะไปให้กำลังใจเนืองแน่นเหมือนเช่นเคยแหละครับ...อย่างคราวนี้ใน

รอบเหมาของ ไทยเบฟฯ ก็มีเด็กๆอายุ 8 ขวบไปถึง 13-14 ขวบ ไปดูนับร้อยคน ส่งเสียงเฮฮาลั่นศูนย์วัฒนธรรมฯ ตอนเปิดตัวหนุมาน และกองทัพลิงออกมาเต็มเวทีรอบบ่ายที่แสดงก่อนหน้าก็เป็นของนักเรียน...มีนักเรียนมาดูเต็มโรงจากจังหวัดต่างๆ

เห็นแล้วก็ชื่นใจ ตราบใดที่เด็กไทยรุ่นใหม่ชอบเช่นนี้ โขนของเราคงจะอยู่ยั้งยืนยงเคียงคู่ประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน ดังที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯตั้งปณิธานไว้แน่นอนครับ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม