การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมีให้เห็นมาช้านาน แม้ผู้บริโภคกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทวงสิทธิของตัวเองมากขึ้น แต่มีหลายกรณีที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึง บ่อยครั้งที่ผู้บริโภคซื้อสินค้ามาแล้วเกิดปัญหา กว่าจะเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ขายได้ ต้องรอให้ตกเป็นข่าวดังเสียก่อนอย่างเช่นทุบรถประชด ผู้ขายถึงยอมเปลี่ยนของใหม่ให้ เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจึงพยายามผลักดันการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมและทันสถานการณ์
สภาผู้บริโภค นำโดย คุณบุญยืน ศิริธรรม คุณสารี อ๋องสมหวัง พร้อมนักกฎหมาย นักวิชาการ และเครือข่าย ได้นำรายชื่อประชาชน 71,454 รายชื่อ ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ร.บ.อาหาร และเสนอร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า (เลมอน ลอว์)
คุณสารีระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก เนื่องจากสิทธิผู้บริโภคในไทยยังไม่เทียบเท่าสากล โดยเฉพาะปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ รวมถึงการบริโภคอาหารยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค
คุณชัยรัตน์ แสงอรุณ ตัวแทนสภาผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2522 ผ่านการแก้ไข 3 ครั้ง แต่สิทธิของผู้บริโภคไทยยังถูกจำกัดไว้เพียง 5 ข้อเท่าเดิม ในขณะที่สิทธิผู้บริโภคสากลมี 8 ข้อ และในยุคดิจิทัลนั้น องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการคุ้มครองการซื้อสินค้าออนไลน์ ต้องไม่น้อยกว่าการซื้อขายแบบเดิม สภาผู้บริโภคจึงเสนอเพิ่มสิทธิผู้บริโภคในร่างแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่เป็น 10 ข้อ ทั้งยังปรับปรุงกลไกโครงสร้างคณะกรรมการให้มีความโปร่งใส การตัดสินข้อพิพาทรวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นไปอย่างเป็นธรรม ตรงไปตรงมา
...
สิทธิ 5 ข้อเดิมที่มีในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ได้แก่ 1.สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารคำพรรณนาเกี่ยวกับสินค้า 2.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิในการเลือกสินค้าและบริการ 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 5.สิทธิในการได้รับการชดเชยความเสียหาย
สำหรับสิทธิที่ผู้บริโภคในระดับสากลมี แม้กระทั่งเวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ ก็มีล้ำหน้าไทยไปแล้วได้แก่ 1.สิทธิในการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ของไทยเขียนไว้ในกฎหมายอื่นเช่นกฎหมายด้านการศึกษา สาธารณสุข 2.สิทธิในการได้รับความรู้ เช่น เวลาประชาชนจะลงทุนหรือซื้อสินค้าอะไร รัฐมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้ จะได้เท่าทันเรื่องต่างๆ ไม่ถูกหลอกลวง 3.สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี รัฐบาลจึงมีหน้าที่จัดการแก้ไขสิ่งแวดล้อมเป็นพิษให้กับประชาชน เช่นปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5
ส่วนสิทธิที่สหประชาชาติให้ความคุ้มครองอีก 2 ข้อคือ 1.การคุ้มครองผู้บริโภคในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 2.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งไทยมีกฎหมายอื่นให้ความคุ้มครองแล้ว
กฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของไทยเหมือนดาวกระจาย มีหน่วยงานมากมายเกี่ยวข้อง สภาผู้บริโภคเห็นว่า สคบ.ซึ่งเป็นเสมือนตัวกลางควรมีกฎหมายของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิต่างๆอย่างครบถ้วนรอบด้าน
สำหรับ พ.ร.บ.อาหาร สภาผู้บริโภคเสนอให้แก้ไขหลายประการ เช่น เพิ่มนิยามครอบคลุมอาหารเกิดใหม่ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจอาหาร รวมถึงแก้ไขบทลงโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม อย่างกรณีดาราโฆษณาอาหารเสริม อวดสรรพคุณเกินจริง ถูกปรับแค่ 6 พันบาท ถือว่าบทลงโทษน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าธุรกิจนับพันล้านบาท
ส่วนกฎหมายเลมอน ลอว์ จะบัญญัติให้ผู้ซื้อได้รับความคุ้มครองต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยได้สิทธิ 5 กรณีคือ ขอซ่อม ขอเปลี่ยน ขอลดราคา ขอเลิกสัญญา และขอปฏิเสธชำระค่างวดผ่อนสินค้า
สัปดาห์หน้าจะเปิดสมัยประชุมรัฐสภาแล้ว ผมหวังว่าประธานสภาฯจะเร่งนำร่างกฎหมายชุดดังกล่าวบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคชาวไทยทุกคน.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม