อุบัติเหตุคานก่อสร้างถนนพระราม 2 ช่วง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นอุบัติเหตุใหญ่อีกครั้งหนึ่งระหว่างการก่อสร้างสะพานยกระดับพระราม 2 ซึ่งทำให้คนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า “มันเกิดขึ้นอีกแล้วหรือ”

เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา หรือประมาณปี 2564 การก่อสร้างสะพานยกระดับถนนพระราม 2 ต้องเจอกับปัญหาคานถล่ม เครนถล่ม คนตกสะพาน รถตกสะพาน อุบัติเหตุจากการก่อสร้างถนนพระราม 2 มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งด้วยกัน และหากรวมครั้งนี้ด้วยก็จะเป็นครั้งที่ 5

และทุกครั้งที่มีปัญหาระหว่างการก่อสร้าง ทั้งการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และการทำงานที่ล่าช้า กระทรวงคมนาคมก็ได้มีการเรียกผู้รับเหมาเข้ามาหารือถึงปัญหา และคาดโทษสูงสุดด้วยการตัดสิทธิ์การประมูลงาน 2-4 ปี

นอกจากนั้น ในส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ก็ได้พยายามชดเชยความเสียหายด้วยวงเงินที่สูงสุดเท่าที่จะทำได้

แต่การหาหนทางป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างให้ลดเหลือน้อยที่สุด และสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด ทั้งการวางมาตรฐานกฎเกณฑ์บังคับให้เป็นรูปธรรม และมีกระบวนการตรวจสอบการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆอย่างเป็นระบบก็สำคัญมากไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ จากอุบัติเหตุดังกล่าวนักวิชาการได้ตั้งข้อสังเกตว่า นอกเหนือจากประสิทธิภาพและทักษะการทำงานของ “ผู้รับเหมา” แต่ละราย รายเล็ก รายใหญ่ รายกลางที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังอาจจะมาจากคุณภาพจำนวนประเภทของการใช้อุปกรณ์ และการบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือการทำงานอีกด้วย

เพราะที่ผ่านมาถนนพระราม 2 มีผู้รับเหมาหลายเจ้าหลายรายแบ่งกันสร้างถนนในแต่ละช่วง และบางช่วงเป็นการรับเหมาช่วง ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำกันไม่แปลก แต่โดยหลักจริยธรรมการทำงาน การแบ่งกันทำหรือรับช่วงก็ตามการก่อสร้างจะต้องออกมาดีเท่ากันทั้งหมด ดังนั้น รายใหญ่ต้องมั่นใจว่าผู้รับช่วงของเรามีความสามารถเพียงพอรับช่วงงานนี้ได้ ทั้งด้านวิศวกรรมและความปลอดภัย หรือต้องมีการถ่ายทอดวิชาความรู้กันจนแน่ใจว่า “ทำได้จริง”

...

เพราะหากที่สุดเกิดปัญหาขึ้นมา ควรกำหนดให้รายใหญ่ที่ให้เหมาช่วง มีส่วนรับผิดชอบร่วมกับผู้รับช่วงด้วย ขณะที่อีกจุดที่จำเป็นและเป็นเรื่องที่อาจจะขาดกันไป คือ การตรวจสอบตรวจเช็กเครื่องไม้เครื่องมือ ให้ค่าทางเทคนิคต่างๆในการใช้งานอยู่ในช่วงที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ตลอดเวลา ไม่ใช่เห็นว่าเมื่อวานยังใช้ได้ดี วันนี้ไม่ต้องตรวจต้องเช็กก็ได้ เช่นเดียวกับในส่วนของทางการจะต้องมีการสุ่มตรวจการทำตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัดหรือไม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้อาจจะสามารถขยายผลไปยังโครงการก่อสร้างอื่นๆได้อย่างมากมาย ไม่ใช่แค่ถนนพระราม 2

จริงอยู่คนที่รอมา 40 ปี ให้ถนนพระราม 2 สร้างเสร็จ ย่อมอยากให้เสร็จเร็วๆ แต่ภายใต้ความเร็วนั้น จะต้องมีความปลอดภัย ทั้งในระหว่างการก่อสร้าง และการใช้งานจริงเมื่อถนนสร้างเสร็จแล้วด้วย.

มิสเตอร์พี

คลิกอ่านคอลัมน์ “กระจก 8 หน้า” เพิ่มเติม