ในหน้า 4 ของ “ไทยรัฐ” ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567 หรือฉบับเมื่อวานนี้เอง...ได้ลงภาพข่าวสังคมภาพหนึ่งมีข้อความบรรยายใต้ภาพ ดังนี้

วัย 80 ปี-สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ และ ชาติศิริ โสภณพนิช จัดพิธีทำบุญตักบาตรในโอกาสครบรอบ 80 ปีวันก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ โดยมี อมร จันทรสมบูรณ์ และ ฯลฯ (รายชื่อกรรมการธนาคารกรุงเทพ อื่นๆ) มาร่วมงานด้วย ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ วันก่อน

อ่านแว้บแรกผมนึกว่าเป็นการฉลองอายุ 80 ปี ของ คุณสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ 1 ในกรรมการธนาคารกรุงเทพ เพื่อนรุ่นน้องผม 1 ปี ที่เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่สนิทเหมือนเพื่อนรุ่นเดียวกัน เพราะผมสอบตกหลายวิชาที่เรียนปีแรก...ต้องไปเรียนซํ้าใหม่กับคุณสิงห์ในปีถัดมา

แต่พออ่านจนจบและดู “แบ็กดร็อป” ที่อยู่ด้านหลังภาพจึงทราบว่า เป็นการทำบุญตักบาตรครบ 80 ปี ในโอกาสคล้ายวันก่อตั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นั่นเอง

ประกอบกับวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม เมื่อวานนี้ ที่ลงภาพข่าวนี้...ตรงกับวันที่ ธนาคารกรุงเทพ ได้รับอนุญาตให้ดำเนิน “ธุรกิจการธนาคาร” ได้เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ.2487

ภาพข่าวสังคมหน้า 4 ของไทยรัฐฉบับดังกล่าว จึงเป็นการร่วมฉลอง 80 ปี ธนาคารกรุงเทพแบบตรงวันเป๊ะว่าอย่างนั้นเถิดครับ

โดยส่วนตัวผมเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพมาตลอด ในฐานะที่เป็นพนักงานคนหนึ่งของไทยรัฐที่รับเงินเดือนจากไทยรัฐ ผ่านบริการของธนาคารกรุงเทพ (สมัยก่อนคือ สาขาบางซื่อ) มาตั้งแต่ พ.ศ.2515 ที่ผมมาทำงานกับไทยรัฐปีแรกจนถึงวันนี้

หลายๆปีต่อมา ธนาคารกรุงเทพเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ผมเองยังคงนั่งอยู่ตรงนี้ และได้เห็นความเติบโตของธนาคารกรุงเทพด้วยตาของตนเองมาตลอด

ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้บริหารธนาคารกรุงเทพมากขึ้น ทำให้รู้ถึงแนวความคิดวิธีการทำงาน โดยเฉพาะท่านผู้จัดการใหญ่ คุณ ชาติศิริ โสภณพนิช อยู่พอสมควร

...

ความสำเร็จที่ทำให้ธนาคารกรุงเทพเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ผมมองว่าเป็นผลมาจาก “วิสัยทัศน์” และวิธีทำงานของ คุณชาติศิริ เป็นส่วนสำคัญ

ที่ผมชื่นชมเป็นพิเศษก็คือนโยบายหลักของธนาคารกรุงเทพ ที่ยังนึกถึงสังคมไทย และยังนึกถึงคนยากคนจนของประเทศไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบันอยู่เสมอๆ

โครงการเกษตรก้าวหน้า, โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โครงการศิลปะต่างๆ รวมทั้งโครงการประกวดหนังสือประกวดวรรณกรรม และการประกวดดนตรีไทยมัธยมศึกษาในแต่ละปี ฯลฯ ล้วนเป็นโครงการที่มีส่วนในการตอบแทนแก่สังคมไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ช่วงหลังๆนี้ผมมักเขียนคอลัมน์ในแบบขอความเห็นใจจากคนรวยหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จต่างๆ เพราะผมเชื่อเสมอว่าตราบใดที่เรายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรี (ซึ่งถูกต้องแล้ว) คนรวยก็จะยิ่งรวยมากขึ้น คนจนอาจไม่จนลงกว่าเดิม แต่จะดูเหมือนจนกว่าเดิมเพราะรายได้จะถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ

หนทางที่จะแก้ปัญหาความ “รุนแรง” ที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง เมื่อ “ช่องว่าง” ทั้งหลาย ห่างมากจนคนที่อยู่ล่างๆทนไม่ได้...มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ “เมตตาธรรม”

คนรวยจะต้องช่วยคนจนในทุกโอกาสที่จะช่วยได้ อย่าเอาแต่กอบโกยเขาเพื่อความรํ่ารวยของตนเองแต่เพียงกลุ่มเดียว

จึงขอแสดงความยินดีในความสำเร็จ และขออวยพรให้ประสบความสำเร็จยิ่งๆขึ้นไปอีก รวมทั้ง “ขอ” ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อย่าลืม “มหาชน” ตัวจริงเสียงจริงของประเทศไทยที่ส่วนหนึ่งยังยากจนอยู่ก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม