ไม่รู้ต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตกว่าถนนพระราม 2 จะปิดจ็อบสร้างเสร็จสมบูรณ์ ถนนเจ็ดชั่วโคตรสายนี้มีการต่อเติมขยายเส้นทางและทำทางพิเศษเพิ่มเข้ามาตลอด ผู้ใช้เส้นทางนี้ต้องเผชิญทุกข์สาหัส ทั้งรถติดหนึบ ถนนปรุประ และเกิดเหตุสลดบ่อยครั้งจากการก่อสร้างทั้งกับตัวคนงานก่อสร้างและผู้ขับขี่สัญจรไปมา
กรณีล่าสุดเมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 29 พ.ย. คานปูน (Segment) และเครนทรัส (Launching Truss) หรือโครงถักเหล็กเลื่อนที่ใช้ประกอบชิ้นส่วนคานปูน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ก่อสร้างทางยกระดับโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว (ช่วงที่ 3) พังถล่มลงมาบนพื้นที่ กม.21+600-กม.22+100 ถนนพระราม 2 ขาออก ต.คอกกระบือ อ.เมืองสมุทรสาคร ทำให้คนงานทั้งไทยและพม่าเสียชีวิต 6 ศพ บาดเจ็บหลายราย
ตำรวจได้เชิญกรมทางหลวง บริษัทผู้รับเหมา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ มาประเมินสถานการณ์ เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้เวลาถึง 14 วันในการเคลียร์เส้นทาง
ในขณะที่ คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ไปลงพื้นที่ตอนเย็น พร้อมให้สัมภาษณ์ตามสูตรเดิมว่า ได้กำชับผู้เกี่ยวข้องและผู้รับเหมาประชุมเกือบทุกเดือน เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย มีการเก็บประวัติการทำงานหรืออุบัติเหตุ จะมีการนำสมุดพกมาตัดคะแนนผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างใหญ่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครถูกตัดคะแนน ตนได้ปรึกษากับกระทรวงการคลัง จากนี้ต้องตัดคะแนนผู้รับเหมาที่ทำงานผิดพลาดหากเกิดอุบัติเหตุตามความร้ายแรงหากถูกระงับสิทธิรับงานภาครัฐ 2-3 ปี จะกระทบธุรกิจอย่างมาก ผู้รับเหมาต้องให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัย ยืนยันผู้รับเหมารายนี้จะถูกตัดคะแนนอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.66 คุณสุริยะเคยให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ว่า ได้กำชับคณะกรรมการฯติดตามตรวจสอบการทำงานรายโครงการ โดยกำหนดคะแนนในรูปแบบ 5 ดาว และออกมาตรการกำกับผู้รับจ้าง กำหนดบทลงโทษ ปัจจุบันเมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่สั่งให้ผู้รับจ้างหยุดก่อสร้าง 7 วัน ส่วนจะต้องขึ้นบัญชีดำนั้น หากเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจะปรึกษากับกรมบัญชีกลางให้ดำเนินการ
...
นี่แหละครับที่ผมว่าบอกว่าคุณสุริยะให้สัมภาษณ์ตามสูตร เมื่อเกิดเหตุก็มาหน้างานให้ข่าว เดี๋ยวพอข่าวซาเรื่องก็เงียบ แต่ไม่มีมาตรการแก้ไขและป้องกัน
อย่างน้อยที่สุดควรมีหน่วยงานมอนิเตอร์ความคืบหน้าการก่อสร้าง แจ้งจุดเสี่ยง จุดปิดการจราจร และสื่อสาร 2 ทางกับประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง รัฐมนตรี ปลัด อธิบดี ควรใส่ใจติดตามความเดือดร้อนและเสี่ยงภัยของประชาชน เลิกรับฟังรายงานความคืบหน้าแบบหลวมๆได้แล้ว
ในโอกาสที่เกิดเหตุสลดครั้งนี้ ผมอยากให้กระทรวงคมนาคมแถลงข้อมูลว่า เหตุการณ์ความสูญเสียจากโครงการก่อสร้างทั้งหลายบนถนนพระราม 2 กระทรวงคมนาคมได้ลงโทษผู้รับเหมาไปแล้วกี่ราย อย่างไรบ้าง และรายล่าสุดนี้จะมีมาตรการลงโทษอย่างไร
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเพราะ มาตรการลงโทษผู้รับจ้างเบาเกินไป ทั้งทางแพ่งและอาญา ในต่างประเทศถ้ามีคนตายเยอะขนาดนี้ บริษัทรับเหมาต้องชดใช้มโหฬาร ไม่ใช่มาเรียกร้องแค่ศพละ 1 ล้านบาท และต้องกำหนดค่าปรับสูงๆ คู่สัญญาหลัก จะได้เลิกมองแต่กำไร ไม่จ้างช่วงผู้รับเหมามาตรฐานต่ำราคาถูกมาทำอีก
นอกจากนี้การเอาผิดไม่ควรจบแค่วิศวกรควบคุมงาน ถ้าเพิ่มความรับผิดไปถึงผู้บริหารของบริษัทรับเหมาช่วงและบริษัทคู่สัญญาหลัก ก็จะไม่กล้าละเลยความปลอดภัย ชีวิตคนมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าเศรษฐีหรือคนงาน นักกฎหมายบางส่วนเห็นว่ากรณีแบบนี้ฟ้องข้อหาเจตนาฆ่าได้ ถือว่าผู้รับเหมาเล็งเห็นผล เพราะการใช้อุปกรณ์หรือระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ ย่อมส่งผลทำให้เกิดเหตุถึงตายได้วัวหายหลายตัวแล้วยังไม่คิดล้อมคอก ปัญหาจึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบสิ้น.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม