หลังการอ่านหนังสือนิทานปัญจตันตระ ฉบับภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรพิมพ์ พ.ศ.2558 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี เขียนไว้ในหมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 ว่า
แต่ยังสงสัยตามประสาคนหาเรื่อง เวลาเพียง 6 เดือนจะไหวหรือ?
หมายถึงเวลาที่พราหมณ์วิษณุศรรมันเล่านิทานถวายเป็นบทเรียนแก่เจ้าชายทั้งสามองค์ เพื่อให้ทรงเชี่ยวชาญในศาสตร์แห่งการปกครอง
วิชานี้ ผมเรียกให้ง่ายในคอลัมน์นี้ หลักสูตรนายกฯ 6 เดือน... บางบ้านเมืองมีนายกฯมา 5 เดือนกว่า ก็ยังมีคนสงสัย ท่านเรียนจบหรือไม่ จบมาได้อย่างไร? หรือถ้าจบจบมาจากไหน?
นิทานชุดนี้ เริ่มต้นจากอินเดีย เมื่อกว่าสองพันปีแล้วก็แพร่หลายไปเปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ ฝรั่ง แตกหน่อต่อยอดไปมากมาย จนบางเรื่องไม่รู้ว่า ใครลอกใคร และบางเรื่องใครล้อใคร?
ในกล่องนิทานกริมม์ ยาค็อบและวิลเฮล์ม กริมม์ เขียน อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล (บริษัทต้นอ้อ 1999 พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2542) มีหนังสือ 6 เล่ม ผมวนเวียนอ่านแค่เล่ม 1 ก็เล่มที่มีเรื่องซินเดอเรลลา จนเจอเรื่อง บรมขี้เกียจทั้งสาม
อ่านแล้ว ไม่แน่ใจ ว่าเรื่องนี้พี่น้องกริมม์ ตั้งใจเขียนล้อ เรื่อง 3 เจ้าชาย ในหลักสูตรนายกฯ 6 เดือนหรือเปล่า?
พระราชาในแคว้นหนึ่ง มีลูกชายสามคน เขารักและชอบลูกทุกคนเท่าๆกัน ฉะนั้นจะไม่รู้ว่าจะให้คนไหนนั่งบัลลังก์แทน หลังจากเขาตาย
แล้วก็ถึงวันนั้น วันที่พระราชาป่วยหนัก และแน่ใจว่าจะไม่รอด เขาเรียกลูกๆมาข้างเตียงพร้อมหน้า
“ลูกรักทั้งสาม” พระราชาพูด “พ่อตกลงใจแล้ว ลูกคนไหนเป็นคนขี้เกียจอย่างบรม พ่อจะมอบตำแหน่งพระราชาให้”
“แคว้นนี้จะต้องตกเป็นของข้าพเจ้า” ลูกชายหัวปี ใช้คิวอาวุโสพูดก่อน
“เพราะข้าพเจ้าขี้เกียจที่สุด เวลาข้าพเจ้าล้มตัวนอน ถ้าหากมีอะไรก็แล้วแต่ หล่นลงมาที่ตา จนตาไม่สามารถจะปิดได้ ข้าพเจ้าก็จะหลับ ทั้งๆที่ตายังลืมอยู่”
...
ถึงคิวลูกชายคนกลาง “พ่อที่รัก แคว้นนี้เป็นของข้าพเจ้าแน่ๆ เพราะข้าพเจ้าขี้เกียจขนาดเวลานั่งริมเตาผิงให้เกิดความอบอุ่น ถ้าเผอิญหัวแม่ตีนข้าพเจ้าแหย่เข้าไปในไฟ ข้าพเจ้าก็จะปล่อยให้มันไหม้
ข้าพเจ้าก็จะปล่อยให้มันไหม้ โดยไม่ยอมหดขาให้ลำบาก”
พระราชายังตัดสินใจไม่ได้ ต้องรอคิวลูกชายคนสุดท้อง “พ่อ แคว้นนี้หนีเป็นของข้าพเจ้าไปไม่พ้น”
“ข้าพเจ้าขี้เกียจไม่มีใครสู้ สมมติว่าข้าพเจ้ากำลังจะถูกแขวนคอ แต่เมื่อมีใครคนหนึ่งแอบวางมีดคมกริบในมือของข้าพเจ้าสำหรับใช้ตัดเชือก เพื่อให้หลุดพ้นมาได้
ข้าพเจ้าจะยอมให้ถูกแขวนคอ ยิ่งกว่าจะยอมลำบาก ยกมีดขึ้นตัดเชือก”
ที่จริงทุกองค์ชายมีเหตุผลความขี้เกียจที่น่าสนใจ ระหว่างสามองค์ชาย กำลังหายใจไม่ทั่วท้อง ลุ้นรอตำแหน่งใหม่ พระราชาหันหน้าไปหาลูกชายคนสุดท้อง
“เอาล่ะ! เป็นอันว่าเป็นเจ้า” น้ำเสียงพระราชาดูมั่นคงจงใจมาก
“เมื่อเจ้าแสดงความขี้เกียจได้ถึงขนาด...ชีวิตก็ไม่มีความหมาย เจ้าก็เหมาะกับตำแหน่งนี้เป็นที่สุด”
นิทานเรื่องนี้จบแค่นี้ ไม่มีคำสอนต่อท้ายปล่อยให้คนฟังคิดเอาเอง คนผู้ใดเมื่อได้แสดงว่าโกหกได้เก่ง ถึงวันนี้พูดอย่างพรุ่งนี้พูดอีกอย่าง แต่ไม่ว่าจะพูดอะไรไปก็มีคนเชื่อ คนผู้นั้นทุกบ้านเมืองต่างก็มักยอมยกให้เป็นผู้นำ
บ้านเมืองใกล้ๆ คนหนึ่งขอกลับบ้านเลี้ยงหลาน...วันนี้ก็ยังเลี้ยงหลาน อีกคนตอนพ้นคุกหลุดปากเลิกการเมือง วันนี้เขาก็ยังจำศีลภาวนาไม่หันไปมองการเมือง
นี่ก็ปลายฝนต้นหนาวแล้ว ฝนเม็ดเดียวก็ไม่ตกมา...แต่ก็มีเหตุบังเอิญให้คนดีๆสองคนเจอกัน.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม