มะเร็งเต้านม นับเป็นฝันร้ายของผู้หญิงไทย เพราะเป็นประเภทของมะเร็งในผู้หญิงไทยที่ตรวจพบมากเป็นอันดับหนึ่ง รองจากมะเร็งปากมดลูก และจากเดิมที่เคยพบมากในอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันพบในกลุ่มที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆ โดยพบมากสุดในอายุ 40 ปีขึ้นไป

มากไปกว่านั้น ยังมีการตรวจพบว่า มะเร็งเต้านมที่พบในกลุ่มคนอายุน้อย มักเป็นชนิดที่ค่อนข้าง ‘ดุ’ คือมีความรุนแรงด้วยเป็นระยะแพร่กระจาย มีโอกาสดื้อต่อการรักษา การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อโอกาสในการรักษา เพราะหากตรวจพบรอยโรคก่อนแสดงอาการ จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรักษาอย่างเห็นผลมากยิ่งขึ้น

เพื่อการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ให้ผลชัดเจนในการค้นหา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) จึงเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาเสริมการคัดกรองมะเร็ง ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์รังสีในการประเมินความเสี่ยงหรือโอกาสในการเป็นมะเร็ง เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำขึ้น

ในงานประชุมวิชาการร่วม ประจำปี 2567 ที่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘A Road to Lifelong Well-Being: EP2 Unlock the Healthy Longevity’ ที่ BDMS Connect Center เพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการจากบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์หญิงเกวลิน รังษิณาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ และผู้อำนวยการ Health Design Center ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ ‘ปัญญาประดิษฐ์ในแมมโมแกรม (AI in Mammogram)’

แพทย์หญิงเกวลิน กล่าวว่า BDMS ได้มีการบูรณาการเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศ เข้ากับบริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามแนวคิด ‘Smart Hospital’ และ AI เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะด้านรังสีวินิจฉัย ที่ AI Mammography ได้เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจากภาพแมมโมแกรม ซึ่งเป็นภาพเอกซเรย์เต้านม ให้สามารถวิเคราะห์ผลเชิงลึกได้ชัดเจน

“ความยากของแมมโมแกรม ขึ้นอยู่กับลักษณะของเนื้อเต้านม โดยเฉพาะเนื้อเต้านมของผู้หญิงไทยจะมีลักษณะที่แน่นและขาวทึบ ทำให้มีข้อจำกัดในการแปรผล” ซึ่งการนำ AI เข้ามาประกอบการตัดสินใจของแพทย์ก็จะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น พร้อมทั้งยังประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น และช่วยค้นหามะเร็งที่มีขนาดเล็กซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการค้นหาด้วยภาพแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ BDMS นำมาใช้ เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Perceptra สตาร์ทอัปของคนไทย ในความร่วมมือของศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ถันยรักษ์ โดย AI Mammography นี้ได้ผ่านการเรียนรู้จากข้อมูลภาพถ่ายแมมโมแกรมของคนไทยกว่า 400,000 ภาพ

และจากความร่วมมือของ BDMS และ Perceptra ที่ได้นำนวัตกรรม AI มาช่วยรังสีแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วย ทำให้ BDMS ได้รับรางวัล Best Innovative Company Awards ซึ่งมอบให้กับบริษัทยอดเยี่ยมที่มีนวัตกรรมโดดเด่น สร้างมาตรฐานใหม่ด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย จากเวที “SET Awards 2024”

“AI Mammography เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เรานำมาช่วยประกอบการวินิจฉัย เมื่อนักรังสีเทคนิคถ่ายภาพแมมโมแกรมแล้ว จะวิเคราะห์หาตำแหน่งความผิดปกติ แล้วใช้ AI ตรวจหาความผิดปกติร่วมด้วยว่าพบความผิดปกติในตำแหน่งใด ให้ระดับของความผิดปกติเท่าไร และมีความน่าจะเป็นของการเป็นมะเร็งมากน้อยแค่ไหน จากนั้นรังสีแพทย์จะอ่านผลและนำผลมาประกอบการประมวล ซึ่งในการอ่านผลจะมีรังสีแพทย์คนที่สองมาอ่านซ้ำ อาจมีคนที่สามหรือคนที่สี่มาร่วมหากมีความเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญที่มีผลต่อการรักษา และอาจมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวนด์เต้านมร่วมด้วย ก่อนจะแปรผลและเข้าสู่กระบวนการต่อไป”

ปัจจุบัน โรงพยาบาลกรุงเทพได้ทดลองวิเคราะห์ความถูกต้องแม่นยำของระบบ AI มาเป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งให้ผลการวิเคราะห์อยู่ในระดับน่าพอใจ โดย AI สามารถจำแนกผลและให้ความแม่นยำสูง ว่าจุดที่ตรวจพบนั้นเป็นมะเร็ง อาจเป็นมะเร็ง หรือไม่เป็นมะเร็ง

“ทุกวันนี้ AI เข้ามาอยู่ในชีวิตเราแทบทุกวงการ โดยเฉพาะในวงการแพทย์และวงการรังสีแพทย์ ที่ AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม AI ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้เทียบเท่ากับมนุษย์ ทั้งรังสีแพทย์และนักรังสีเทคนิคจึงยังต้องทำหน้าที่กำกับการทำงานของ AI อย่างใกล้ชิด และเลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ทั้งนี้ การประชุมวิชาการฯ โดย BDMS ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาการ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ พร้อมการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการสัมมนาทางการแพทย์เชิงลึกจากบุคลากรทางการแพทย์ตามลักษณะกลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักการรังสีแพทย์ ซึ่งแนวคิดหลักของปีนี้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและประชากรยุคปัจจุบัน คือ เส้นทางสู่การมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน