หนุ่มสาวยุคใหม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร “ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม” ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่มักนำไปสู่การทำแท้งผิดกฎหมาย และทิ้งบุตรของวัยรุ่น ปรากฏให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไป “มักเป็นกลุ่มตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจสูง” ดูตามสถิติกระทรวงสาธารณสุขในสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนปี 2566 อัตราการคลอดของหญิงอายุ 10-19 ปี มีอยู่ที่ 42,338 คน คิดเป็นร้อยละ 8.5 ของผู้หญิงที่คลอดบุตรทั้งหมดในไทย
กลุ่มนี้มีอัตราการคลอดซ้ำ 2,949 คน สามารถจำแนกเป็นการคลอดบุตรของหญิงอายุน้อยมาก 10-14 ปี จำนวน 1,736 คน วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวน 40,602 คน ปัญหาหลักที่พบคือ “เด็กแรกเกิดที่แม่อายุ 10–14 ปี” มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 21.1 และเด็กแรกเกิดที่แม่อายุ 15-19 ปี มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 13.9
ทั้งยังพบ “อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นอีก” โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส 91.2 ต่อประชากรแสนคนในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 27.9 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า
สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยาง “เสี่ยงติดเชื้อ HIV” ในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 พันคน “เกือบครึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชน” ดังนั้นทุกฝ่ายไม่ควรนิ่งนอนใจด้วยภาวะอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นหนึ่งในดัชนีสะท้อนคุณภาพสังคมของประเทศไทย การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีมีความสำคัญ
แม้อัตราเด็กเกิดใหม่และการเจริญพันธุ์โดยรวมจะลดลงก็ตาม ศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ นายกสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ (ไทย) บอกว่า การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจส่งผลต่อโอกาสเจริญก้าวหน้าในชีวิต และสร้างภาระการเลี้ยงดูระยะยาวแล้วบางส่วนมักลงเอย “ทำแท้งอย่างไม่ถูกวิธี” ไม่ว่าจะหาซื้อยาทำแท้งตามเว็บไซต์มาทานเอง
...
โดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือทำแท้งกับหมอเถื่อน “ก่อเกิดอันตราย” ไม่เท่านั้นบางคนตั้งครรภ์ซ้ำอีก สุดท้ายกลายเป็นการตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพนำมาสู่การทิ้งลูก หรือเลี้ยงดูแบบตามมีตามเกิดซึ่งก็มีอยู่ให้เห็นมากมาย
ประเด็นหลักก็คือ “ค่านิยมเสียตัว” ปัจจุบันสังคมโลกไร้พรมแดนนี้ก็เชื่อว่ามีวัยรุ่นชาย และหญิงใช้การสื่อสารกันโดยตรงนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ต่อกันจนยากจะควบคุม หรืออาจจะถูกล่อลวงไปละเมิดทางเพศได้ง่าย
ไม่เท่านั้นยังมี “ค่านิยมการเสียตัวช่วงเทศกาล” อย่างเช่นวันลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ วันวาเลนไทน์ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้น เนื่องจาก “หนุ่มสาว” มีโอกาสพบกันอาจมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เพราะช่วงวัยนี้มีร่างกายเจริญเติบโต “ฮอร์โมนเพศ” มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
มักเริ่มให้ความสนใจกับเพศตรงข้าม เริ่มอยากรู้อยากลอง “ไม่วางแผนและไม่คิดป้องกัน” บางคนใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินโดยขาดความเข้าใจว่า “ยาคุมฉุกเฉินมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพไม่สูงเท่ากับวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่อื่นๆ” ที่สำคัญคือยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อรับประทานก่อนไข่ตกเท่านั้น
สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้คือ “ถ้าไข่ตกเกิดขึ้นแล้วการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้” ดังนั้นคู่รักหนุ่มสาวที่คาดจะมีเพศสัมพันธ์กัน หรือมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ “ไม่แนะนำให้ใช้วิธีคุมกำเนิดฉุกเฉิน” แต่ควรใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพมั่นใจมากกว่า เช่น ใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการทานยาคุมกำเนิด
ถ้าจะพูดถึง “วิธีการคุมกำเนิด” มีนวัตกรรมหลากหลาย ส่วนใหญ่ใช้ฮอร์โมนนิยมมากอย่าง “ยาเม็ดคุมกำเนิด” ช่วยยับยั้งตกไข่ กินทุกวันเดือนละ 21-24 วัน เว้นช่วงประจำเดือนมาซึ่งบางคนอาจ หลงลืมรับประทานยาได้
ต่อมา “แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด” ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 7 วัน “ยาฝังยาฉีด” เป็นวิธีคุมกำเนิด การฉีด 1 เข็มป้องกันได้ 3 เดือน เหมาะกับผู้ต้องการคุมกำเนิดนานๆต้องฉีดที่สถานพยาบาล “ยาฝังใต้ผิวหนัง” คุมได้ 3 ปี หรือ 5 ปี ค่าใช้จ่ายสูง “ห่วงอนามัย” ที่ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกแล้วออกฤทธิ์ป้องกันแบบ 3 ปี 5 ปี 10 ปี
“ในยุคใหม่วัยรุ่นมีช่องทางสื่อสารเป็นอิสระที่ผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานรัฐจะห้ามความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์คู่รักวัยเจริญพันธุ์คงทำได้ยาก จึงต้องป้องกันความเสี่ยงการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่แน่ใจคู่นอนมีโรคติดต่อซิฟิลิส หนองใน เอดส์ ก็ใช้ถุงยางอนามัย” ศ.นพ.อรรณพว่า
...
จริงๆแล้ว “เรื่องอนามัยเจริญพันธุ์” วัยรุ่นยังขาดความรู้ด้านเพศวิถี ทักษะชีวิต และบางส่วนไม่อาจเข้าถึงบริการสุขภาพอย่าง “สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมาย” จนนำไปสู่ปัญหาท้องก่อนวัย และการตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพทำให้เราทำงานเชิงรุก 3 เรื่องหลัก คือ 1.การให้ความรู้กับประชาชน 2.รณรงค์ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
และ 3.การเป็นที่ปรึกษาภาครัฐ และเอกชนในเรื่องนโยบายอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ทั้งมีการจัดทำเว็บไซต์ www.Her-Choices.com เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว ที่ถ่ายทอดความรู้วิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้อง
ทว่าแนวคิดอยากฝากไว้คือ “การรณรงค์สร้างกระบวนทัศน์ใหม่” ในเรื่องการวางแผนการเจริญพันธุ์ที่เปลี่ยนจากเดิม “สมัยก่อนเรามุ่งการวางแผนครอบครัว” แต่วิถีใหม่นี้จะมีกรอบนิยามที่กว้างกว่านั้นอย่างเช่นเมื่อคนหนุ่มสาวแต่งงานจะคุมกำเนิด 4-5 ปี หลังจากนั้นก็กลับมาปล่อยให้ตั้งครรภ์ทั้งที่ยังไม่พร้อม
แต่แนวทางใหม่ “เมื่ออยู่เป็นคู่กันแล้วต้องวางแผนว่าพร้อมจะมีลูกเมื่อไหร่” หลังมีลูกคนแรกจะเว้นระยะแค่ไหนเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้า ทำให้คู่รักต้องร่วมกันคิดใน 4-5 ปีที่คุมกำเนิดต้องทำสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ตรวจเช็กมีโรคประจำตัวหรือไม่ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนมีบุตร จะเป็นการตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพจริงๆ
...
อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพในสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวมีปัญหาไม่พร้อมอยู่นั้น ย่อมส่งผลตั้งแต่การดูแลสุขภาพของแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ที่ไม่ดีพอ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าปกติ เช่น คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กคลอดออกมาแล้วสุขภาพร่างกายอาจจะไม่แข็งแรงสมบูรณ์ได้
ย่อมส่งผลต่อ “การเลี้ยงดูบุตรไม่ดีพอ” ทำให้เกิดความทุกข์หลังคลอดก็ทอดทิ้ง หรือนำไปฝากเลี้ยงไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ถูกต้อง “เติบโตขึ้นมา” มักเป็นเด็กไม่มีคุณภาพเสี่ยงสู่ปัญหาสังคมในอนาคต
ฉะนั้นหนุ่มสาวเมื่อ “ตัดสินใจมีเซ็กซ์แล้ว” ต้องรู้จักป้องกันใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อมดีที่สุด “อย่าเผลอตัวเผลอใจ” จนยอมมีเซ็กซ์แบบไม่ป้องกันเด็ดขาด หากพลาดมาสามารถเปลี่ยนชีวิตได้เพียงชั่วข้ามคืน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม