การแก้ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมก่อมลพิษ  ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายประชาชน ที่หมักหมมมานาน จำเป็นต้องอาศัยนโยบายที่จริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นวงจรอุบาทว์ก็จะหวนกลับมาอีก ผู้ประกอบการจ่ายใต้โต๊ะ ข้าราชการหลับตาข้างหนึ่ง ทิ้งให้ชาวบ้านตายผ่อนส่ง

ในระหว่างที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งจัดทำ ร่างกฎหมายใหม่เพื่อกำกับดูแลแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ได้ย้ำนโยบายและกวดขันมาตรการตรวจจับโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดปฏิบัติการ “ตรวจสุดซอย” สั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปูพรมตรวจโรงงานกลุ่มเสี่ยงสูง  เริ่มต้นจากพื้นที่เฝ้าระวัง เช่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์

เน้นไปที่ โรงงานเกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (โรงงานประเภท 101, 105 และ 106) ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย  เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ปฏิบัติดังกล่าวเป็นการตรวจสอบกำกับโรงงานเชิงลึกในทุกมิติทั้งด้านการติดตั้งเครื่องจักร  กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตอย่างครบถ้วน ด้านสิ่งแวดล้อม มีการติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ด้านการบริหารจัดการสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ด้านอาชีวอนามัย การปฏิบัติงานต้องมีความปลอดภัยของทั้งพนักงานและประชาชนรอบโรงงาน

...

เมื่อช่วงกลางเดือน ชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยนำโดย  คุณฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม นำเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ตำรวจปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) เจ้าหน้าที่ศุลกากร ไปตรวจเขตปลอดอากร บริษัท พี.ซี.วู๊ดโพรดักส์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการนำเข้าวัสดุมาคัดแยกบดย่อย และส่งออก ที่เคยถูกสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราออกหนังสือ สั่งระงับการประกอบกิจการ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.2566 จนกว่า จะปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.โรงงาน แต่ปรากฏว่าโรงงานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ลักลอบประกอบกิจการ จึงได้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีกับกรรมการผู้จัดการบริษัท

คุณฐิติภัสร์เผยว่า ในเบื้องต้นกรรมการผู้จัดการบริษัทอ้างว่าขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆจากกรมโรงงานฯมีความล่าช้า แต่พอสอบลึกลงไปก็พบว่า ตั้งแต่ถูกสั่งระงับกิจการมาเป็นเวลาปีเศษโรงงานยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานในการออกใบอนุญาตโรงงานได้ ขณะเดียวกันกลับมีการต่อเติมโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักร ลักลอบเดินเครื่องประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง จึงต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม ประชาชน และชุมชนในอนาคต

เมื่อผู้ประกอบการเย้ยกฎหมาย ก็ต้องกำราบด้วยมาตรการเด็ดขาด วันนี้ รมว.เอกนัฏแสดงให้เห็นแล้วว่าฝ่ายบริหารยึดมั่นนโยบายปราบปรามเข้มข้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะได้ไม่ว่อกแว่กอีก ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ และไม่หวังผลประโยชน์ใต้โต๊ะ พบผู้ประกอบการรายใดทำผิด ลุยจับกุมดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

นอกจากนี้ ต้องขึ้นแบล็กลิสต์ไว้ด้วย รวมถึงทำบัญชีเฝ้าระวังบริษัทที่มีความเสี่ยงก่อมลพิษ ส่วนผู้ประกอบการที่ดีก็ควรเพิ่มแต้มต่อให้ด้วยการอำนวยความสะดวกในทุกช่องทาง เป็นการปฏิรูปการกำกับดูแลโรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม