ปภ. แจ้งเตือน 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. 67

วันที่ 27 พ.ย. 67 เวลา 14.15 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. 67 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่เสี่ยงและบริเวณที่มีฝนตกสะสม พร้อมเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (309/2567) ลงวันที่ 26 พ.ย. 67 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านอ่าวไทยตอนล่างและสหพันธรัฐมาเลเซียลงสู่ทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่

สำหรับคลื่นลมอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 20/2567 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำโดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. 67 ดังนี้

...

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม

ภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (ทุกอำเภอ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี กาญจนดิษฐ์ บ้านนาสาร เวียงสระ บ้านนาเดิม พุนพิน เคียนซา พระแสง ชัยบุรี ดอนสัก เกาะพะงัน และอำเภอเกาะสมุย) นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนัง เฉลิมพระเกียรติ พระพรหม ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ ขนอม ทุ่งสง สิชล นบพิตำ พิปูน ฉวาง ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา เชียรใหญ่ ชะอวด และอำเภอหัวไทร) พัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ ควนขนุน กงหรา และอำเภอป่าบอน) สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา กระแสสินธุ์ สทิงพระ ควนเนียง บางกล่ำ สิงหนคร หาดใหญ่ นาหม่อม รัตภูมิ ระโนด จะนะ เทพา นาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) ปัตตานี (ทุกอำเภอ) ยะลา (ทุกอำเภอ) นราธิวาส (ทุกอำเภอ) พังงา (อำเภอเมืองพังงา ท้ายเหมือง และอำเภอตะกั่วทุ่ง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ ปลายพระยา เขาพนม ลำทับ และอำเภอคลองท่อม) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง วังวิเศษ ย่านตาขาว ห้วยยอด นาโยง และอำเภอปะเหลียน) และจังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล ทุ่งหว้า มะนัง ควนกาหลง และอำเภอควนโดน)

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะเขื่อนบางลางจังหวัดยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคใต้ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไชยา ท่าชนะ ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก กาญจนดิษฐ์ เกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน)
- นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ปากพนัง และอำเภอหัวไทร)
- สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ และอำเภอเทพา)
- ปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ปะนาเระ สายบุรี และอำเภอไม้แก่น)
- จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอตากใบ)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว

โดยได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและพื้นที่ที่มีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงเกิดสถานการณ์ภัย ให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้บุคคลใดเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีคลื่นลมแรง ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนบริเวณชายฝั่งทะเล ห้ามนักท่องเที่ยวเล่นน้ำโดยเด็ดขาด และให้แจ้งชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือหากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามเดินเรือเด็ดขาด พร้อมกันนี้ ขอให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทันทีที่เกิดสถานการณ์ขึ้น และขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

...

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน "THAI DISASTER ALERT" ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และหากมีความเดือดร้อนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป.