เพราะเหตุใดผู้หญิงจึงไม่ออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง?
จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังพบสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีแนวโน้มลดลง ความรุนแรงไม่ได้เกิดเพียงแค่ร่างกายหรือจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้อำนาจเหนือ ซึ่งมีความแนบเนียนและทำได้ต่อเนื่องยาวนาน สะท้อนถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม โครงสร้างทางสังคม ความเชื่อค่านิยม และมายาคติแบบปิตาธิปไตยที่กดทับผู้ถูกกระทำไว้ ไม่ให้มีอำนาจในการจัดการกับความสัมพันธ์ที่รุนแรงได้ หากผู้ถูกกระทำจะลุกขึ้นสู้นั้นต้องเผชิญปัญหาในหลายมิติ (กำแพงหลายชั้น) ดังนี้
ชั้นที่ 1 จากผู้กระทำ และจากตนเอง ผู้กระทำมักจะใช้อำนาจครอบงำ ซึ่งอำนาจดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมบอกสอนเอาไว้ เช่น เธอเป็นแม่ที่ดีต้องอดทนเพื่อลูก เพราะเธองี่เง่าจึงทำให้ฉันทำร้ายเธอ เพราะฉันเป็นผู้ชายฉันจะให้เธอมาข่มไม่ได้ เป็นต้น และในบางครั้งสิ่งที่สังคมบอกสอนก็ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตัวเองเป็นแม่หรือเป็นเมียที่ดีหรือยัง
ชั้นที่ 2 จากครอบครัว และคนใกล้ชิด ผู้ถูกกระทำเมื่อมาบอกเล่าหรือปรึกษาคนรอบข้าง ในบางครั้งคนรอบข้างก็อาจจะติดกรอบเรื่องของความเป็นครอบครัว ซึ่งอาจมาในรูปแบบคำแนะนำที่ไม่ได้เสริมพลังผู้ถูกกระทำ แต่เป็นการบอกว่าให้โอกาสผู้กระทำ ว่าสักวันเขาจะเปลี่ยน หรือบางครั้งก็บอกว่าเขามีดีอีกหลายเรื่อง แค่เรื่องเดียวอะไรที่ยอมได้ ก็ยอมไป อดทนไว้เพื่อลูก ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวเป็นคำแนะนำที่ทำให้ผู้ถูกกระทำต้องยอมทนอยู่กับความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ชั้นที่ 3 จากสังคม และชุมชน เมื่อผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาบอกกับสังคมว่าตนเองเผชิญกับความรุนแรง ในบางครั้งสังคมโดยเฉพาะสื่อที่สร้างมุมมองและทัศนคติต่อคนในสังคมอาจให้การยอมรับกับคนที่มีหน้ามีตาในสังคม หรือคนที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และกลับมาตั้งคำถามกับผู้ถูกกระทำว่า เพราะอะไรเขาถึงทำร้ายเธอล่ะ เพราะเธอเองใช่ไหมเขาจึงทนไม่ไหวกับเธอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สังคมควรไม่ยอมรับกับปัญหาความรุนแรง และควรเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ
ชั้นที่ 4 จากกระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้ถูกกระทำตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาแจ้งความ หรือขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 หลักการคือหลักการที่ว่าไว้ในเรื่องของการรักษาความเป็นครอบครัว ซึ่งในบางครั้งผู้ถูกกระทำอยากจะออกจากความสัมพันธ์และเลิกรา แต่กฎหมายดังกล่าวจะไกล่เกลี่ยเพื่อให้คงไว้ซึ่งความเป็นครอบครัว ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับพฤติกรรมของผู้กระทำ ซึ่งในบางครั้งผู้ถูกกระทำก็ต้องกลับไปอยู่กับผู้กระทำ และอดทนต่อความรุนแรงต่อไป
ซึ่งทางออกของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจไม่ใช่แค่การไปตั้งคำถามกับผู้ถูกกระทำ แต่จะเป็นการเสริมพลังอำนาจผู้ถูกกระทำ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เปลี่ยนมุมมองเรื่องบทบาททางเพศ และให้ความสำคัญกับผู้ถูกกระทำเป็นที่ตั้ง หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นบอกกับสังคมว่าเขาจะไม่ยอมทนกับปัญหา และก้าวข้ามออกจากปัญหาสู่การมีชีวิตที่ดีต่อไป
เข้าใจวงจรความรุนแรง
การที่จะหยุดปัญหาความรุนแรงในคู่รัก ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว และจะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในลักษณะเป็นวงจร อย่างที่เราเข้าใจว่ามันคือ “วงจรความรุนแรง” ซึ่งวงจรดังกล่าวประกอบไปด้วย 4 ระยะ คือ
ระยะแรก คือ การก่อตัว เป็นระยะที่คู่รักมีปัญหากันหรือมีปากเสียง
ระยะที่สอง คือ ระเบิด เป็นระยะที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ หรือการกระทำที่มีการใช้อำนาจเหนือต่อคู่รัก
ระยะที่สาม คือ ขอคืนดี เป็นระยะที่คนที่ทำร้ายกลับมาขอโอกาส มาขอโทษกับสิ่งที่ทำลง หรือบางครั้งก็มาตั้งคำถามกับผู้ที่ถูกกระทำว่าเพราะเขาเป็นแบบนี้เขาจึงทำร้าย ซึ่งเป็นการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ โดยใช้กรอบที่สังคมสร้างขึ้น
ระยะที่สี่ คือ หวานชื่น เป็นระยะที่ผู้ถูกกระทำให้อภัย ไม่ว่าจะด้วยเหตุว่ารัก การติดกรอบที่สังคมตั้งไว้ หรือมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า จะทำให้เราเห็นได้ว่าเมื่อมีการให้โอกาส แต่อีกฝ่ายยังไม่ได้มีการเรียนรู้หรือปรับทัศนคติก็ทำให้เกิดการกระทำซ้ำ และผู้ถูกกระทำก็ไม่สามารถออกจากปัญหาดังกล่าวได้
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถออกจากความรุนแรง ผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมื่อพบเจอความรุนแรงในคู่ของคุณและอยากออกจากความสัมพันธ์นั้นก่อนเกิดเหตุการณ์ถึงชีวิต การเตรียมความพร้อมในการออกจากความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีข้อแนะนำในการออกจากความรุนแรงในครอบครัวหรือคู่รักอย่างปลอดภัย ดังต่อไปนี้
1. การขอความช่วยเหลือ การออกจากสถานการณ์ความรุนแรงให้เร็วที่สุดหากรู้สึกไม่ปลอดภัย และขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ หากกรณีได้รับบาดเจ็บ ให้ติดต่อหน่วยงานช่วยเหลือฉุกเฉินหรือตำรวจทันที
2. เชื่อมั่นในคุณค่า ศักยภาพของตนเอง ผู้ถูกกระทำที่ถูกกระทำต่อเนื่องยาวนาน ยากที่จะทำให้มีความมั่นใจในตนเอง หรือรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ให้คิดว่า การกระทำความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ควรยอมรับ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นใครก็ตาม
3. ศึกษาข้อมูล ควรหาความรู้ในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงเตรียมพร้อมเรื่องการหลบหนี ที่อยู่ชั่วคราว รวมถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ
4. ใช้กฎหมายในการคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว เพื่อป้องกันการถูกกระทำซ้ำ ความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นซ้ำ บางรายแม้จะแยกตัวออกมาได้ แต่อาจถูกระราน ไม่ยอมเลิกรา จึงควรใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันการถูกกระทำซ้ำ
เครื่องมือในการทำงานและการออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรง
มูลนิธิฯ มีเครื่องมือในการทำงานในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 2 ส่วนสำคัญ คือ
1. การเสริมพลังอำนาจ (Empowerment)
การเสริมพลังอำนาจ เป็นกระบวนการที่เอามาใช้กันอย่างแพร่หลายในงานสังคมสงเคราะห์ อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานในแขนงอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและการตีความของผู้ให้บริการได้ ซึ่งการเสริมพลังอำนาจ คือ กระบวนการทางสังคมที่พยายามทำให้มนุษย์สามารถเห็นคุณค่า และศักยภาพในการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้านด้วยตนเอง การเสริมพลังอำนาจเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากผู้ใช้บริการต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน อีกทั้งยังตกอยู่ในสถานะของผู้เสียเปรียบอำนาจทางสังคมในครอบครัว ทำให้กระบวนการตัดสินใจในการแก้ปัญหาด้วยตนเองของผู้ใช้บริการนั้นมีความยากลำบาก รู้สึกไม่ปลอดภัย และส่วนใหญ่มักตัดสินใจไม่ได้เพราะอำนาจในการต่อรองมีน้อย จึงจะเห็นได้ว่าผู้ใช้บริการหลายรายเข้ามารับบริการกับทางมูลนิธิฯ หลังจากเกิดความรุนแรงในครอบครัวมาสักระยะแล้ว
กระบวนการเสริมพลังอำนาจจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ใช้บริการเข้าใจและเห็นถึงคุณค่า ความสามารถของตนเอง รวมไปถึงชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ใช้บริการว่าสามารถก้าวข้ามและแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญได้ เพราะในภาวะที่ผู้ใช้บริการไม่เห็นคุณค่าของตนเองอาจทำให้ไม่กล้าออกมาจากความรุนแรงในครอบครัว ไม่เชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และสิ่งเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรงซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นในการให้การปรึกษาความรุนแรงในครอบครัว การเสริมพลังอำนาจ จึงเป็นเครื่องมือที่ทางมูลนิธิฯ นำมาใช้เสมอเพื่อทำให้ผู้ใช้บริการ หรือผู้ถูกกระทำ รู้สึกภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเองที่สามารถรวบรวมความกล้าในการยุติความรุนแรงในครอบครัว
2. ทีมสหวิชาชีพ
การนำทักษะ ความรู้ ความสามารถ ของทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญต่างกันมาประยุกต์และบูรณาการในการให้ความช่วยเหลือและทำงานร่วมกับผู้ใช้บริการเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นการทำงานภายในองค์กรอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอในการให้บริการให้ความช่วยเหลือ จากการดำเนินงานพบว่าหลายครั้งที่ปัญหาของผู้ใช้บริการ หรือผู้ถูกกระทำมีความซับซ้อนและมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย เช่น ผู้ใช้บริการบางรายต้องการให้สามีเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยาเนื่องจากสังเกตเห็นพฤติกรรมโมโหร้าย และมักด่าทอคนในที่ทำงาน จึงต้องการให้สามีได้รับการบำบัด ในกรณีนี้ผู้ให้บริการจึงได้ดำเนินการติดต่อประสานไปยังนักจิตวิทยาที่เป็นทั้งทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายทางสังคมขององค์กรได้เข้ามาทำงานร่วมกัน หรือบางกรณีผู้ใช้บริการต้องการฟ้องร้องผู้กระทำความรุนแรง ทางผู้ให้บริการก็จะดำเนินการประสานงานไปยังทนายในเครือข่ายองค์กรให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย การเตรียมเอกสารต่าง ๆ ไปจนถึงการเป็นทนายความในคดี
จะเห็นได้ว่าการนำใช้ทีมสหวิชาชีพมาเป็นเครื่องมือในการทำงานนั้นอาจจะเสียเวลาในการติดต่อประสานงานเล็กน้อย แต่สามารถทำให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิภาพเพราะในการทำงานต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการอยู่เสมอตามมาตรฐานวิชาชีพ
ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถที่จะออกมาจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจัยทางสังคมที่กล่าวมาทั้งหมด มูลนิธิฯ อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการให้แนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยมีกระบวนการดังนี้
1.ด้านการช่วยเหลือฟื้นฟูและเสริมพลังอำนาจ การดำเนินงานในด้านนี้
การให้คำปรึกษา มูลนิธิให้คำปรึกษาเรื่องต่าง ๆ กับผู้ที่ประสบปัญหา ซึ่งจะให้ผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลางว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร ต้องการที่จะดำเนินการอย่างไร ส่วนเจ้าหน้าที่จะมีบทบาทในการให้ทางเลือกและสนับสนุนในการดำเนินการ ให้ผู้ประสบปัญหาเห็นภาพว่าการตัดสินใจเลือกของเขาในแต่ละทางนั้น มันจะเป็นอย่างไรบ้าง
การมีคนกลางในการสนับสนุนร่วมหาทางออก ในกรณีที่ผู้ประสบปัญหาไม่ต้องการดำเนินคดีเพราะบางครั้งยังรู้สึกว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างมีความเปราะบางและมักจะมีเรื่องของความสัมพันธ์ ความรู้สึกต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจากเดิมที่ใช้กฎหมายเป็นตัวนำจึงใช้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะบางรายไม่ต้องการทำเรื่องคดีความ แต่ต้องการคนที่เป็นตัวกลางในการสนับสนุน และหาทางออกว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมูลนิธิฯ ก็สามารถเป็นตัวกลางในการดำเนินการในส่วนนี้
2.กิจกรรมกลุ่มสนับสนุน (Group support) หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
กิจกรรมที่จัดให้มีการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน ได้มาแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กำลังใจและเยียวยาซึ่งกันและกัน ซึ่งในกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งกลุ่มคนที่สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพิ่งจะมีปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้กันเองโดยที่ไม่ได้มีคนอื่นแทรกแซง
● การประชุมปรึกษารายกรณี (Case conference) เป็นการรวมตัวกันขององค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทภารกิจหรือการช่วยเหลือหลากหลายและแตกต่างกัน เช่น ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้นำชุมชน โดยจะดูที่ความเหมาะสมของผู้ประสบปัญหาแต่ละราย ว่าจะให้วิชาชีพใดเข้ามาร่วมประชุมหารือเพื่อวางแผนในการช่วยเหลือร่วมกันอย่างรอบด้าน
● การประสานและส่งต่อ การให้ความช่วยเหลือในบางเรื่องทางมูลนิธิฯ เองก็มีข้อจำกัดที่ไม่อาจรองรับหรือช่วยเหลือได้ เช่น เรื่องการเยียวยาสภาพจิตใจแบบเชิงลึก เรื่องที่พัก เรื่องเงินสงเคราะห์ เป็นต้น จึงอาจจะต้องมีการประสานส่งต่อไปยังนักจิตวิทยา โรงพยาบาล บ้านพักเด็กหรือบ้านพักฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งก็อยู่ที่การประเมินผู้ประสบปัญหาแต่ละรายว่ามีความต้องการอย่างไรบ้าง
ด้านคดีความ มีการดำเนินงาน
● การจัดหาทนายความ ทางมูลนิธิฯ จะมีเครือข่ายทนายความที่ทำงานร่วมกันมานานตั้งแต่ยุคแรก รวมทั้งทนายความจากมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และนักกฎหมายอื่น ๆ เข้ามาให้การสนับสนุนช่วยเหลือ
● การดำเนินคดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะมีส่วนช่วยเหลือตั้งแต่ในระดับชั้นสอบสวน การเตรียมความพร้อม ว่าผู้ประสบปัญหาจะต้องเจอกับอะไรบ้างในการตัดสินใจดำเนินคดี จะต้องเตรียมตัวอย่างไร และจะไปสิ้นสุดตรงไหน เพื่อให้เขามีความพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการเข้าไปช่วยทำความเข้าใจหรือหาทางออก ในกรณีที่เกิดปัญหาไม่เข้าใจกันกับพนักงานสอบสวน
● ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี บางกรณีจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี มีค่าจ้างทนาย ผู้ประสบปัญหาที่มีศักยภาพพอที่จะจ่ายเองได้ก็ให้จ่ายเอง แต่ถ้าขาดแคลนทางมูลนิธิฯ ก็จะมีงบประมาณอยู่จำนวนหนึ่งที่ผู้ประสบปัญหาสามารถขอความอนุเคราะห์ได้ ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
● การคุ้มครองสวัสดิภาพ ในส่วนนี้เป็นการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่ระบุไว้ว่าผู้ประสบปัญหาสามารถไปขออำนาจจากศาลเยาวชนและครอบครัว ในการออกคำสั่งให้มีวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพแก่ผู้ประสบปัญหา เช่น ห้ามไม่ให้ผู้กระทำเข้าใกล้ในระยะ 50 เมตร ให้ผู้กระทำย้ายออกจากบ้าน ให้ผู้กระทำไปบำบัดรักษาทางจิตเวชหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่ไปกับการดำเนินคดีทางอาญา
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing Thaihealth