สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. หรือ NPO Bill หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า กฎหมายเอ็นจีโอ โดยสาระสำคัญคือการวางมาตรการให้องค์กรภาคเอกชน ไม่ว่าจะสมาคม มูลนิธิหรือคณะบุคคล ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเพื่อให้รัฐและสาธารณชนเข้าถึงทั้งหมด รวมถึงแหล่งที่มาของเงินด้วย นั่นหมายความว่า รัฐสามารถเข้ามาสอดส่องการทำงานของภาคประชาชน-ประชาสังคมได้อย่างเปิดเผย และในทางหนึ่ง อาจใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดการทำงานของภาคประชาชน-ประชาสังคมได้ด้วย เนื่องจากเนื้อหาของร่างนี้ มีหลายส่วนที่จำกัดเสรีภาพในการสมาคมและการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น มาตรา 20 ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ระบุว่า องค์กรที่ดำเนินกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือก่อให้เกิดความแตกแยก …. โดยหากองค์กรเหล่านี้เฝ่าฝืน ก็อาจโดนโทษปรับ หรือคำสั่งให้ยุติการดำเนินงานขององค์กรนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกเสนอเข้าสภา เนื่องจากประชาสังคมคัดค้านจำนวนมาก แต่เมื่อผลัดรัฐบาล ไอเดียของร่างกฎหมายนี้ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นผลักดันอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. …. หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.มูลนิธิฯ’ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยปัจจุบัน ร่างนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ถึง 26 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายองค์กรอิสระ ที่อาจไม่อิสระ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เพิ่มกลเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบเหล่าสมาคมและมูลนิธิทั้งหลาย และมีการกำหนดบทลงโทษทางอาญา ปกครอง และพินัย เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ที่แต่เดิม เป็นกฎหมายแพ่งซึ่งกำหนดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนเท่านั้น ทำให้รัฐมีบทบาทเข้ามาควบคุมและกำกับมากขึ้นทวีคูณรับเงินต่างชาติ ต้องรายงาน ร่าง พ.ร.บ.มูลนิธิฯ ฉบับนี้ กำหนดให้สมาคมและมูลนิธิทุกแห่ง ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย เท่ากับว่า เป็นการห้ามไม่ให้มีกลุ่มที่ไม่จดทะเบียน ทั้งยังมีข้อกำหนดการรายงานข้อมูลที่เข้มงวด โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 8 ว่า กรณีสมาคมหรือมูลนิธิได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากองค์กร หน่วยงานหรือเอกชนต่างประเทศเกินจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด จะต้องรายงานต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคนั้น เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจนอกจากนี้ ในมาตรา 17(5) และมาตรา 35 ยังได้ระบุคุณสมบัติของกรรมการสมาคนหรือมูลนิธิ ใจความว่า ต้อง ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคม หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุขเว็บไซต์ไอลอว์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การระบุเช่นนี้ อาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจในการตีความหมายอย่างกว้าง โดยอาศัยเพียงแค่การใช้ ‘ข้อสงสัย’ เท่านั้น จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ถูกตัดสิทธิหรือถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ เช่น มาตรา 112 มาตรา 116 หรือกฎหมายการเมืองอื่นๆ ถูกยับยั้งไม่ให้มีส่วนร่วมในสมาคมและมูลนิธิ ในอีกนัยหนึ่ง ก็ยังเป็นการห้ามปรามไม่ให้สมาคมและมูลนิธิดำเนินการใดๆ ที่ขัดหรือแย้งต่อแนวนโยบายด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของรัฐบาลให้อำนาจรัฐควบคุมเข้มงวดร่าง พ.ร.บ.มูลนิธิฯ ฉบับนี้ ได้เพิ่มอำนาจให้รัฐเข้ามาควบคุมกิจการของสมาคมและมูลนิธิ เพิ่มบทลงโทษทางอาญา ปกครอง และพินัย ช่น อำนาจสั่งเลิกสมาคม อำนาจเพิกถอนมติที่ประชุมที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ โดยไม่ได้ระบุกลไกในการอุทรณ์หากไม่เห็นด้วย ตัวอย่างการกำหนดโทษทางอาญาฯ ของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ อาทิ มาตรา 51 ห้ามใช้คำว่าสมาคมหรือมูลนิธิโดยไม่ได้เป็นสมาคมหรือมูลนิธิ ปรับ 50,000- 100,000 บาทมาตรา 56 ห้ามแอบอ้างหรือทำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นกรรมการโดยไม่ได้เป็นกรรมการจริงหรือถูกถอดถอนไปแล้ว จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 59 ห้ามแสดงความเท็จโดยทุจริตในที่ประชุมสมาคมและมูลนิธิ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 60 ห้ามยักยอกถ่ายโอนทรัพย์สินของสมาคมและมูลนิธิรวม จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 52 วรรค 2 กำหนดความผิดของกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิที่ดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ และกิจการนั้นเป็น ‘ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ’ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ไอลอว์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า มาตรา 52 วรรค 2 ไม่ได้เขียนชัดเจนว่าการกระทำใด ถึงจะเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นเพียงแต่ความคิดเห็น หรือการกระทำที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลเปิดช่อง ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ดุลยพินิจตีความได้ จนอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการสกัดขัดขวางสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรวมกลุ่มและแสดงออกได้นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.มูลนิธิฯ ได้ให้อำนาจ ‘นายทะเบียน’ มหาศาล โดยบัญญัติไว้ว่า ‘นายทะเบียน’ หมายความว่า อธิบดีกรมการปกครอง ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการ จังหวัดในจังหวัดอื่น หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการปกครองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่คือรับและอนุมัติจดหรือเลิกทะเบียนสมาคมและมูลนิธิรับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับรายชื่อคณะกรรมการและทะเบียนสมาชิก รับตรวจสอบบัญชีของสมาคมและมูลนิธิตรวจสอบการดำเนินงานของสมาคมและมูลนิธิร่างฉบับนี้ ได้ขยายอำนาจนายทะเบียนให้กว้างขึ้น เมื่อเทีบบกับบทบัญญัติเรื่องสมาคมและมูลนิธิในประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ เช่น ให้นายทะเบียและเจ้าหน้าที่ ยกระดับเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถทำการจับกุมซึ่งหน้าได้ นายทะเบียและเจ้าพนักงาน มีอำนาจเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ หรือเพื่อตรวจสอบได้ เข้าตรวจค้นสำนักงานสมาคมและมูลนิธิโดยไม่จำเป็นต้องขอศาลออกหมายค้น ให้กรรมการหยุดดำเนินงาน-ยุบกรรมการสมาคม หากดำเนินงานนั้นอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงสั่งเลิกมูลนิธิได้หากกระทำขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความมั่นคง‘องค์กรสิทธิฯ’ เรียกร้องรัฐบาลถอนร่าง21 พ.ย. 2567 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ถอ ร่าง พ.ร.บ.สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.... หรือ “พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไร” เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. นี้ ละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ“ร่างพระราชบัญญัตินี้จะนำมาซึ่งหายนะอย่างร้ายแรงต่อประชาชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทย เพราะให้อำนาจกับเจ้าพนักงานของรัฐในการจำกัดสิทธิทางพลเรือนและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของสังคมประชาธิปไตย” แมททิว สมิธ (Matthew Smith) ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ทันที และควรให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม” ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว โดยในเอกสารของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ กำหนดให้สมาคมและมูลนิธิทุกแห่งต้องจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย เท่ากับเป็นการห้ามไม่ให้มีกลุ่มที่ไม่จดทะเบียน ทั้งยังมีข้อกำหนดการรายงานข้อมูลที่เข้มงวด โดยเฉพาะแหล่งทุนจากต่างประเทศ และให้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางในการสั่งเพิกถอนทะเบียนขององค์กร โดยกำหนดเหตุผลไว้อย่างกว้างๆ และขาดความชัดเจน อาทิเช่น กรณีที่พิจารณาว่ามีการดำเนินงานที่เป็นภยันตรายต่อ’ความสงบเรียบร้อยของประชาชน’ หรือ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ หากมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ กระทรวงมหาดไทยจะมีอำนาจในการเข้าตรวจสอบสำนักงานของหน่วยงานไม่แสวงหากำไรโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งการตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีหมายจากศาล กำหนดให้ต้องรายงานข้อมูลที่มากจนเกินกว่าเหตุ และกลายเป็นภาระ ทั้งยังกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง รวมทั้งโทษจำคุกกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคุกคาม และสั่งปิดองค์กรที่รัฐบาลไทยไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นการทำลายความเป็นอิสระและประสิทธิภาพของหน่วยงานภาคประชาสังคมฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่าย้อนใปในวันที่ 8 พ.ย. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดการปรึกษาหารือสาธารณะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้กับหน่วยงานภาคประชาสังคม ในการรับฟังความเห็น มีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาที่กำหนดขึ้นอย่างกว้าง ๆ และอาจเป็นเหตุให้มีการบังคับใช้โดยพลการต่อสมาคมและมูลนิธิ ยกตัวอย่างเช่น ร่างพระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยเพิกถอนทะเบียนองค์กร หากมีการดำเนินงานที่พิจารณาว่า ‘ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ หรืออาจเป็น ‘ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ’ การใช้ภาษาที่คลุมเครือเช่นนี้ เปิดโอกาสอย่างมากให้เจ้าพนักงานอาจใช้อำนาจอย่างมิชอบ และอาจถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่าง และจำกัดเสรีภาพในการสมาคมนอกจากนี้ ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ยังระบุว่า ในการรณรงค์เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายฉบับก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ส่ง จดหมายเปิดผนึก ถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทย ระบุถึงข้อกังวลสำคัญเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากนั้น ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้จับมือกับหน่วยงานอีก 64 องค์กร ส่ง จดหมายร่วม ไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กระตุ้นให้รัฐบาลของเขากดดันรัฐบาลไทยให้ถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ และประกันว่าข้อบังคับในอนาคตจะมีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งภายหลังการรณรงค์อย่างหนัก รัฐบาลไทยจึงได้ถอนร่างฯ นี้ไปแล้ว และได้มีความพยายามจัดทำร่างกฎหมายฉบับปัจจุบัน ที่มีการเสนอขึ้นมาเมื่อเดือนตุลาคม 2567ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ และยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ ร่างกฎหมายที่เสนอใหม่นี้ยังคงมีข้อบทที่สร้างปัญหา และจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของหน่วยงานไม่แสวงหากำไร รวมถึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในการสมาคมฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุว่า ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และตามปฏิญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม ร่างพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงผลกำไรตามที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทยนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิเหล่านี้อย่างชัดเจน “ประเทศไทยต้องประกันว่ากฎหมายจะสนับสนุน ไม่ใช่ขัดขวางการดำเนินงานที่จำเป็นของภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสภาพความเป็นอยู่และเสรีภาพของประชาชน” แมททิว สมิธกล่าว “นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรจึงควรสั่งการให้ดำเนินการ เพื่อถอนร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหากดปราบฉบับนี้ทันที และสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประสานงานอย่างจริงจังกับภาคประชาสังคม แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายอำนาจนิยมที่จำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ฟอร์ตี้ฟายไรต์ ทิ้งท้าย