เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายการขับเคลื่อนเด็กหลุดระบบการศึกษา หรือ “Thailand Zero Dropout” ซึ่ง สพฐ.ได้คิกออฟโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง หรือ “OBEC Zero Dropout” ไปแล้ว ขณะนี้ สพฐ.ได้ติดตามเด็กที่หลุดระบบการศึกษา และตามกลับมาเรียนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ 4,000 กว่าคน จากยอดเด็กหลุดระบบการศึกษาภาคบังคับของ สพฐ.ประมาณกว่า 300,000 คน ในจำนวน 4,000 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง และกลุ่มเด็กที่ต้องนำการศึกษาไปให้ เช่น เด็กที่ป่วยติดเตียง เด็กพิการ และเด็กที่ขาดโอกาสจนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ จึงมอบสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เป็นผู้ดูแล

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังหารือการมอบของขวัญวันเด็กแห่งชาติและของขวัญวันครู อยู่ระหว่างจัดทำแผน เบื้องต้นของขวัญวันเด็กแห่งชาติจะอยู่ในรูปแบบการทำให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน เป็นการขับเคลื่อนโครงการ “Learn to Earn” หรือการเรียนรู้เพื่ออยู่รอด มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เป็นแนวทางสร้างโอกาสในการทำงานตลอดชีวิต มีเป้าหมายในการค้นหา พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ได้ตามความถนัด ความสนใจ ศักยภาพ รู้จักจุดแข็งและตัวตนของตนเอง ได้มอบหมายให้ สศศ. ขับเคลื่อนในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แล้ว จนมีการสร้างงานสร้างรายได้เกิดขึ้นกับผู้เรียน สามารถนำผลิตภัณฑ์นักเรียนออกจำหน่ายได้กว่า 1,000 รายการ

“ผมได้ย้ำมาตรการความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสุขภาพจิตนักเรียน เนื่องจากมีหลายกรณีเด็กเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย จึงขอให้เขตพื้นที่ประสานกับกรมสุขภาพจิตในการนำนักจิตวิทยาเข้าไปในโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต พร้อมศึกษาพฤติกรรมนักเรียนเป็นรายบุคคล” ว่าที่ร้อยตรี ธนุกล่าว.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่