ทีม ศวอบ. สำรวจสถานการณ์ "พะยูน" บริเวณอ่าวตังเขน จ.ภูเก็ต พบมีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ตัว โดยมี 1 ตัว ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับค่อนข้างผอม

จากกรณีที่หลายคนกังวลกับสถานการณ์ของพะยูนไทย ที่เริ่มเหลือน้อยลง หลังจากมีการพบซากพะยูนลอยเกยตื้นในทะเลจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต ที่ล่าสุดชาวบ้านได้พบซากของพะยูนโดนตัดหัวลอยอืดริมชายฝั่งทะเลบ้านบางโรง ม.3 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง เจ้าหน้าที่เร่งขนย้ายซากมาผ่าชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการตาย ดังที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รายงานสถานการณ์พะยูน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ระบุว่า  ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) เข้าตรวจสุขภาพและติดตามฝูงพะยูนพร้อม นักบินโดรนอาสาสมัคร (คุณธีรศักดิ์ ศักดิ์ศรีทวี) พบพะยูนจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ตัว สามารถตรวจความสมบูรณ์ร่างกายได้ จำนวน 7 ตัว โดยแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำและกินหญ้า

  • พบความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับค่อนข้างผอม (BCS=1/5) จำนวน 1 ตัว อัตราการหายใจ 2-3 ครั้ง/5นาที 
  • ความสมบูรณ์ร่างกายอยู่ในระดับสมบูรณ์ดี (BCS=3/5) จำนวน 6 ตัว อัตราการหายใจ 2-3 ครั้ง/5นาที 

ทั้งนี้กรมทะเลฯ เตรียมแผนการเฝ้าระวังกรณีพะยูนผอม (BCS =1/5) 

เฝ้าติดตามพะยูนในพื้นที่แหล่งหากิน บริเวณอ่าวตังเขน ( ประเมินพฤติกรรมต่อเนื่อง /ประเมินแหล่งหญ้าในพื้นที่กับจำนวนพะยูนที่เข้ามาอย่างน้อย 7 ตัว)

วางแผนการกั้นแนวเพื่อฟื้นฟูในธรรมชาติ

  • เตรียมอาหารเสริมในธรรมชาติ / ทำคอกในธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ

กรณีการพบว่าพะยูนอ่อนแรง ไม่สามารถว่ายน้ำได้ตามปกติ จะมีการนำมาพักฟื้นใน บ่อฟื้นฟูของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ศวอบ.

...

การดูแลพะยูนในพื้นที่อ่าวตังเขน เจ้าหน้าที่กรมทะเลฯ อาสาสมัคร หน่วยงานท้องถิ่น ร่วมเฝ้าระวังเส้นทางเดินเรือ ความเร็วเรือและทำประมง และควบคุมเรื่องมลพิษทางทะเลและขยะ

ทั้งนี้ สัตวแพทย์ต้องประเมินความเสี่ยงของการล้อมจับ ซึ่งพะยูน อาจจะมีความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้ออักเสบจากการล้อมจับได้

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง