เศรษฐกิจแย่ บ้านเมืองวุ่นวาย แก๊งต้มตุ๋นระบาด คนตกงานเพิ่ม น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ไฟไหม้ รถชน หลากหลายเหตุการณ์ที่คุกคามจิตใจและสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

แน่นอนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่สร้างความเครียดต่อผู้ประสบเหตุ ครอบครัว และสังคมโดยรวม

แต่ความเครียดของแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองเกิดความเครียดเข้าแล้ว ส่งผลให้เข้าสู่ระบบการรับคำปรึกษาช้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต และกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในที่สุด

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า จนถึงขณะนี้ในสังคมไทยมีประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน กรมฯจึงมุ่งเน้นการสร้างพลังใจผ่านคำว่า “อึด–ฮึด–สู้” เพื่อให้สามารถต่อสู้และผ่านพ้นวิกฤติ ลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยมี 10 เคล็ดลับใน สร้างพลังใจด้วย 3 อึด–3 ฮึด–4 สู้ ที่ทุกคนทำได้ทุกวัน

“3 อึด” ได้แก่ 1.คิดบวกเสมอ เช่น ตื่นนอนเช้า นึกถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึก

...

ขอบคุณ เช่น การมีครอบครัวมีอาหารที่อร่อย หลังพักเที่ยงนึกถึงเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นระหว่างวัน เช่น งานที่เสร็จเรียบร้อย หรือรอยยิ้มจากเพื่อนร่วมงาน 2.ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริง เช่น ทานผักทุกมื้อ หรือ ล้างแก้วกาแฟให้เรียบร้อยและตรวจสอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อทำสำเร็จก็จะ

เพิ่มความมั่นใจ 3.เรียนรู้จากประสบการณ์ หากมีปัญหาเกิดขึ้น ลองบันทึกว่าเกิดอะไรขึ้นและหาวิธีปรับปรุง เช่น ครั้งหน้าอาจเตรียมข้อมูลล่วงหน้าให้มากขึ้น

“3 ฮึด” 1.รู้จักจุดแข็งของตัวเอง เช่น เป็นคนตั้งใจทำงานดี หรือใจเย็น พกกระดาษนี้ติดกระเป๋าไว้ เพื่อดูเมื่อต้องการกำลังใจเมื่อรู้สึกท้อ ให้ย้ำว่า “ฉันเก่งนะ ฉันเคยทำได้”, จดสิ่งที่ภูมิใจในตัวเองในแต่ละวัน เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น หมั่นทบทวนทุกสัปดาห์ 2.ทำสิ่งที่ชอบ เช่น ทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ทำสิ่งที่รัก เช่น ดูหนัง ฟังเพลงหรือทำอาหารที่ชอบ 3.สร้างความสัมพันธ์ที่ดี หมั่นทักทายคนใกล้ชิดด้วยการส่งข้อความหาคนในครอบครัว หรือเพื่อน 1 คนในแต่ละวัน เช่น “เป็นยังไงบ้าง คิดถึงนะ”

“4 สู้” 1.วางแผนรับมือกับปัญหา ก่อนออกจากบ้าน เช่น งานเร่ง เรื่องที่ต้องแก้ไข แล้วคิดทางแก้ไขที่ทำได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหนักให้เปิดแผนออกมาดู 2.เครียดได้คลายเป็น หากรู้สึกเครียดมาก ลองหยุดทำสิ่งที่ทำอยู่ แล้วคิดถึงเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น มุมมองบวกจะช่วยให้ปัญหาดูน้อยลง เคล็ดลับจดสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น การได้ช่วยเหลือคนอื่น และอ่านย้อนหลังทุกสัปดาห์เพื่อสร้างกำลังใจ 3.ดูแลสุขภาพร่างกาย ดื่มน้ำ ออกกำลังกาย 4.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง พูดกับตัวเองในใจว่า “การเปลี่ยนแปลงคือโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต” และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ให้ลองมองเป็นโอกาสใหม่ๆแทนที่

...

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับภารกิจของกรมฯ มีทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับคือ ดูแลผู้ป่วยที่เดินมาหาคลินิกจิตเวช เพื่อรับคำปรึกษา ซึ่งอาการมีตั้งแต่วิตกกังวล ความเครียดจากงานหรือครอบครัว ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจทางสุขภาพจิต โดยคำว่า สุขภาพจิต เป็นคำที่กว้างมาก แต่จิตเวชเป็นภาวะที่เป็นโรคแล้ว ส่วนเชิงรุก คือ กรมมีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต มีแอปพลิเคชัน Mental Health Check-up และ DMIND บนแอปพลิเคชันหมอพร้อม ให้ประชาชนเข้ามาประเมินสุขภาพจิต หากผลประเมินพบว่ามีความเสี่ยง ก็มีคนให้คำปรึกษา นัดพบนักจิตวิทยา หรือนัดพบแพทย์ เป็นต้น ขณะที่วัยรุ่นจะมีช่องทางให้คำปรึกษาผ่านแอปฯ Sati App

“ในปี 2568 กรมฯจะเปิดโอกาส ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแต่ไม่เรียกว่าคลินิกจิตเวชจะเรียกว่า คลินิกให้คำปรึกษา ตั้งเป้าเปิดทุกอำเภอในโรงพยาบาลต่างๆ และลงไปสู่ระดับตำบล และระดับ อสม.โดยอบรมให้ อสม.เป็นผู้ปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น ได้ เพื่อลดจำนวนคนที่มีปัญหาให้ลดน้อยลง” นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

...

อธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังให้คำแนะนำถึงการหาความสุขให้กับชีวิตว่า เราควรคิดเชิงบวก ถ้าใจหรือความคิดเป็นไปในทางคิดบวก จะช่วยเสริมพลังใจ ทำให้ร่างกายแข็งแรงมีพลังจะสู้ต่อปัญหา ต้องมองทุกวิกฤติให้เป็นโอกาสในเชิงบวกใดได้บ้าง บางครั้งสำเร็จ บางครั้งไม่สำเร็จ ก็ต้องบริหารความคาดหวัง ให้มองความหวังเป็นเชิงบวก ก็จะมีโอกาสทำให้เรารับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ ไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญคือ การไม่ทุกข์ก็ถือว่าสุขแล้ว

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจทุกคนในสังคมไทยในการจัดการความเครียดของตนเอง ก่อนจะต้องกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช

ความเครียด และปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย แต่เป็นเหมือนการส่งสัญญาณเตือน และเป็นอาการบ่งบอกถึงการก่อโรค ที่หากปล่อยไว้นานมีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเป็นปัญหาของตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวม

ช่วยกันหยุดความสูญเสียทั้งจิตใจ ทรัพย์สิน และร้ายที่สุดคือการต้องสังเวยด้วยชีวิต จากความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ที่เป็นเสมือนภัยมืดใกล้ตัว ก่อนจะสายเกินแก้.

ทีมข่าวสาธารณสุข

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่