ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง รวมถึง “พระพุทธศาสนา” ที่มีความสัมพันธ์กับป่าไม้อย่างลึกซึ้ง
ดังจะเห็นได้จากประวัติของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ซึ่งได้อาศัยป่าไม้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลายาวนาน
ในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าประสูติที่สวนลุมพินีวันใต้ต้นสาละ เมื่อเสด็จออกผนวช ก็เข้าไปบำเพ็ญทุกรกิริยาในป่า ต่อมาได้ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์และเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์แสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญสมณธรรมในป่าเป็นเวลานานถึง 6 ปี จนกระทั่งตรัสรู้
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาก็ได้อาศัยป่าเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเช่นกัน พระองค์ได้ประทานพระบรมพุทโธวาท ให้เป็นแนวทางแห่งการอยู่กับธรรมชาติ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าไว้อย่างชัดเจน เช่น นิสสัย 4 ข้อ หนึ่งก็คือการอยู่โคนต้นไม้ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันมีวัดและศาสนสถานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าจากกรมป่าไม้ จำนวนกว่า 2,000 วัด พื้นที่ไม่น้อยกว่า 25,000 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีวัดที่อยู่ระหว่างขออนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์จากพื้นที่ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 อีกกว่า 8,500 วัด พื้นที่ประมาณ 127,500 ไร่
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ การดูแลรักษาป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติโดยเร่งดำเนินการในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เอกชน รัฐ ตลอดจนความร่วมมือจากชุมชน วัด มัสยิด โรงเรียน ให้การสนับสนุน การอนุรักษ์ ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และป้องกันไฟป่า โดยได้มอบหมายให้กรมป่าไม้จัดทำโครงการ “ธรรมจักรสีเขียว” มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชิดชู ส่งเสริมสนับสนุน และเป็นตัวอย่างให้แก่วัด ชุมชน ประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมให้วัดหรือพระสงฆ์ได้ช่วยงานด้านป่าไม้ ในการอนุรักษ์ ปลูกป่า ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และป้องกันไฟป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ พร้อมกับสร้างจิตสำนึก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชน ตลอดจนประชาชน
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการคัดเลือกวัด หรือศาสนาสถานทั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้จากกรมป่าไม้ในโครงการ“ธรรมจักรสีเขียว” ที่มีผลงานดีเด่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ารับรางวัลในช่วงวันมาฆบูชา
“โครงการธรรมจักรสีเขียวจัดทำขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาศาสนสถานในพื้นที่ป่าไม้ สร้างการอยู่ร่วมกับธรรมชาติควบคู่กับพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมให้ศาสนสถานหรือพระสงฆ์ได้ช่วยงานด้านป่าไม้ ด้วยการปลูกป่า อนุรักษ์ และป้องกันการบุกรุกทำลายป่ารวมทั้งเชิดชู ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นตัวอย่างให้แก่วัด ชุมชน ราษฎรในท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ศึกษาทางศาสนาพุทธ เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งเป็นการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป” ดร.เฉลิมชัย กล่าว