ปัญหากากอุตสาหกรรมและขยะพิษถูกละเลยมานาน ทำให้เกิดขยะพิษกองมหึมาซุกตามพื้นที่ต่างๆ เฉพาะจุดใหญ่ที่ปรากฏเป็นข่าวดังนอกจากกรณีของวินโพรเสสที่ จ.ระยอง ยังมีที่อยุธยา ราชบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา รวมกว่า 10 จุด ทันทีที่คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เข้ามารับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม ได้ประกาศนโยบายจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบ และย้ำเตือนเสมอห้ามเจ้าหน้าที่แอบรับผลประโยชน์ ทำให้ปัญหาดังกล่าวลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันได้เร่งรัดสะสางปัญหาขยะเก่าที่ยังกองสุมอยู่ ซึ่งมีค่าดำเนินการสูงลิ่วในการกำจัดอย่างถูกวิธี
การควบคุมกากอุตสาหกรรมในปัจจุบัน อาศัยกฎหมายหลัก 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.โรงงาน และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังมีช่องโหว่และไม่ครอบคลุมพอที่จะควบคุมการลักลอบทิ้งกากพิษเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พ.ร.บ.โรงงานถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมการบริหารจัดการในการผลิตสินค้าที่ดี เอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ตั้งใจค้าขายสุจริต กฎหมายนี้จึงกำหนดแค่โทษปรับ ไม่มีโทษอาญา ส่วน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายมีไว้บริหารจัดการสารเคมีเฉพาะที่จำเป็นในกระบวนการผลิตสินค้า ไม่ได้มีไว้จัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรม
หากจะจับผู้ร้ายปราบโจร ซึ่งก็คือผู้ประกอบการที่มีเจตนาลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายชีวิตคน จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ เหมือน ปปง.ที่มีกฎหมายให้อำนาจพิเศษ ทำให้สามารถตามจับมิจฉาชีพได้ทั้งแก๊ง รมว.เอกนัฏจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายใหม่ จะออกเป็น พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำกับควบคุมการกำจัดขยะอุตสาหกรรมให้เหมาะสมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง “ผู้ประกอบการทุกราย” ต้องมีความรับผิดชอบต่อของเสียเกิดจากกระบวนการผลิตของตนเอง รวมทั้งเอาผิดอาญาผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
...
ที่ผ่านมาอาจมีการปล่อยปละละเลยโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่แอบนำขยะพิษออกไปกำจัดข้างนอก ว่าจ้าง ผู้ประกอบการราคาถูกๆ ไม่ได้มาตรฐาน ไปกำจัดกากอุตสาหกรรมแทน แต่ต่อไปจะคุมเข้มโรงงานในนิคมฯ ต้องกำจัด ฝังกลบ บำบัด หรือรีไซเคิลของเสียที่เกิดในโรงงานก่อน ส่วนที่จัดการเองไม่ได้ก็ต้องมีการขออนุญาตว่าจ้างผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะนำไปกำจัด
พร้อมกันนี้จะมีระบบติดตามตรวจสอบทั้งระบบ หากพบว่ากำจัดกากอุตสาหกรรมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย จะถูกเอาผิดทั้งหมดไล่จากปลายทางย้อนไปถึงต้นทาง โทษลดหลั่นไปตามความร้ายแรงของการกระทำ ผู้ประกอบการกำจัดขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน จะโดนหนักที่สุด
อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีมักกินเวลานานหลายปี นโยบายของ รมว.เอกนัฏที่จะตั้ง กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม สามารถเข้ามาช่วยเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากกากอุตสาหกรรมก่อนได้ โดยผู้ประกอบการที่จะขอใบอนุญาตจะต้องวางเงินหลักประกันเข้าในกองทุนฯ เมื่อเกิดเหตุใดที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ก็สามารถนำเงินจากกองทุนฯไปเยียวยาก่อนโดยไม่ต้องรอจนศาลตัดสิน
การจัดการขยะอุตสาหกรรมยังต้องคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจเพิ่มปริมาณขยะ เช่นแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หากไม่มีระบบจัดการที่ดีจะกลายเป็น ขยะพิษ จึงต้องมีกฎกติกาให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีและเกิดประโยชน์สูงสุด
การออกกฎหมายควบคุมกากอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ดีต่อสิ่งแวดล้อมและความเชื่อมั่นของประชาชน.
ลมกรด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม