หลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าจะมีการรื้อสะพานข้ามแยก 2–3 สะพาน เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มในเร็วๆนี้
2 ใน 3 สะพานที่มีการกล่าวขวัญถึงก็คือ “สะพานข้ามแยกประตูนํ้า” กับ “สะพานข้ามแยกราชเทวี” ที่ชาวกรุงเทพมหานครรู้จักคุ้นเคยอย่างดียิ่งนั่นเอง
หัวหน้าทีมซอกแซกมีความหลังกับทั้ง 2 สะพานข้ามแยกนี้พอสมควร อ่านข่าวแล้วก็อดคิดถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสะพานทั้ง 2 แห่งนี้เสียมิได้
อย่ากระนั้นเลย...ขออนุญาต “เจาะเวลาหาอดีต” ย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2507 (60 ปีพอดีเป๊ะเลย) กันเลยนะครับ
ใน พ.ศ.ดังกล่าว ณ บริเวณสะพานข้ามแยกราชเทวี เป็นที่ตั้งของ “วงเวียนนํ้าพุ” ขนาดใหญ่วงเวียนหนึ่ง เรียกว่า “วงเวียนนํ้าพุ ราชเทวี”
ส่วน ณ บริเวณสะพานข้ามแยกประตูนํ้า ยังเป็น 4 แยกธรรมดาๆนี่เอง เรียกกันว่า “สี่แยกประตูนํ้า” มีสัญญาณไฟจราจรติดตั้งอยู่ทั้ง 4 มุมของแยก
สำหรับประวัติของ นํ้าพุราชเทวี นั้น เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2503 ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนาย ชำนาญ ยุวบูรณ์ อธิบดีกรมการปกครอง มาดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลนครกรุงเทพฯอีกตำแหน่งหนึ่ง
ท่าน ชำนาญ ยุวบูรณ์ นอกจากจะเป็นผู้ริเริ่มให้สร้างนํ้าพุอันสวยงามแห่งนี้ ยังเป็นผู้สั่งการให้ปลูกดอกไม้สวยๆงามๆไว้ด้วย จนกลายเป็น “แลนด์มาร์ก” แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ใน พ.ศ.ดังกล่าว
จริงๆแล้วในเชิงประวัติศาสตร์นั้น...ก่อนที่บริเวณนี้จะได้ชื่อว่าย่าน “ราชเทวี”มีเรื่องเล่ายาวนานย้อนไปถึงยุคสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เลยทีเดียว แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ขออนุญาตตัดตอนข้ามมาถึงปี 2503 ในยุคที่ “วงเวียนนํ้าพุราชเทวี” รุ่งโรจน์สุดขีด เป็นสถานที่สำคัญที่ใครๆก็อยากไปเดินอยากไปถ่ายรูป ดังยิ่งกว่า “สยามพารากอน” หรือ “ไอคอนสยาม” ยุคนี้เสียด้วยซํ้า
...
น่าเสียดายที่วงเวียนนํ้าพุราชเทวีดังอยู่ได้แค่ 3-4 ปีเท่านั้น พอถึง พ.ศ.2507
กรุงเทพฯซึ่งยังไม่เป็น “มหานคร” ใน พ.ศ.ดังกล่าว เติบโตอย่างรวดเร็วมาก มีประชากรหลั่งไหลจากต่างจังหวัดมาอยู่อาศัยและมาประกอบอาชีพอย่างมากมาย... จนเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นปัญหาหนึ่ง ได้แก่ “ปัญหาจราจรติดขัด” ในหลายๆจุด รวมทั้งบริเวณ “วงเวียนน้ำพุราชเทวี”
ได้มีผู้ทำหนังสือร้อง เรียนไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอให้พิจารณาว่า ควรรื้อถอน “วงเวียนน้ำพุราชเทวี” ซึ่งเป็นต้นเหตุของรถติดดีหรือไม่? และหันมาใช้ระบบไฟจราจร “เขียวเหลืองแดง” ดังเช่น 4 แยกทั่วๆไป
พลเอกประภาส จารุเสถียร มท.1
ยุคนั้น จึงสั่งการให้เทศบาลนครกรุงเทพฯรายงาน ด่วนว่า วงเวียนน้ำพุราชเทวี เป็นสาเหตุแห่งรถติดจริงหรือไม่? ทางเทศบาลจึงทำหนังสือขอความร่วมมือให้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทีมออกไป เก็บสถิติ โดยเทียบกับบริเวณสี่แยกอื่นๆ ก่อนตัดสินใจใดๆ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงประกาศรับบัณฑิตใหม่ รวม 8 คน ให้มาทำหน้าที่เป็นพนักงานสำรวจ...ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนเป็นเวลา 1 เดือน...ปรากฏว่า 1 ในจำนวนนี้ก็คือ หัวหน้าทีมซอกแซก ที่เพิ่งจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ และมาสมัครรับการคัดเลือกกับเขาด้วย
ทีมสำรวจทั้ง 8 คนปักหลักนั่งนับรถที่แล่นผ่าน “สี่แยกประตูน้ำ” (ในฐานะตัวแทนของฝ่ายใช้ไฟจราจร 4 แยก) กับผ่าน “วงเวียนน้ำพุราชเทวี” (ผู้ถูกร้องทุกข์) เป็นเวลา 1 เดือน เต็มๆ ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
ผลปรากฏว่า “สี่แยกประตูน้ำ” ชนะขาดลอย ปริมาณรถไหลลื่นกว่า “วงเวียนน้ำพุราชเทวี” อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจึงเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย และต่อมาก็พิจารณาให้รื้อ “วงเวียนน้ำพุ” เปลี่ยนเป็นระบบ “ไฟจราจร” เช่นเดียวกับแยกอื่นๆ
สี่แยกราชเทวีใช้ระบบไฟจราจรอยู่อีกหลายปี ต่อมาในปี 2518 ทาง กทม.ก็มีมติให้สร้างสะพานข้ามแยก และได้ชื่อว่า “สะพานข้ามแยกราชเทวี” หลังสร้างเสร็จเมื่อปี 2522 เป็นต้นมา
ก่อนจะมีข่าวว่าต้องรื้อทิ้งอีกครั้ง เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าและระบบรถไฟฟ้า “สีส้ม” ดังที่รายงานไว้ข้างต้น...แต่ก็มีข่าวด้วยว่าจะกลับมาสร้างคืนให้อีกตามเดิมเมื่อก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ในส่วนของหัวหน้าทีมซอกแซกนั้น ก็ยังนึกเสียใจอยู่จนถึงบัดนี้ที่การนับตัวเลขรถยนต์ของพวกเราเป็นผลให้ “วงเวียนน้ำพุ” อันงดงามต้องถูกทุบทิ้งไป
แต่มาคิดอีกทียังไงๆ “น้ำพุราชเทวี” คงหนีไม่พ้นชะตากรรม เพราะความเจริญของ กทม. ทำให้การจราจรแน่นและติดขัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ...ไม่โดนทุบเพราะตัวเลขจากที่หัวหน้าทีมและเพื่อนๆไปสำรวจ...ก็คงจะต้องโดนทุบจากการสำรวจรุ่นหลังๆอยู่ดี เป็นสุขๆเถอะครับนํ้าพุราชเทวี
ป.ล. ภาพประกอบวันนี้มาจากแฟ้มภาพเก่าของไทยรัฐ วันก่อนรื้อนํ้าพุและยังไม่มีไฟจราจร...คุณจราจรอาสาสมัครก็เลยขึ้นไปยืนโบกมือกลางกระถางนํ้าพุที่ไม่มีนํ้า ก่อนที่ไฟจราจรจะมาอยู่หลายเดือน...นี่ก็ร่วมๆ 60 ปีแล้วเหมือนกันครับ.
“ซูม”