สองสัปดาห์ก่อนผมได้เล่าเรื่องราวของคูปองอาหารเช้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงคาน ส่งผลให้เชียงคานได้รับการประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกประจำปีนี้ จาก Green Destinations วันเสาร์สบายๆ นี้ผมจะเล่าต่อถึง “เมืองเก่าสงขลา” บ้าง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ปลุกปั้นจนได้รับรางวัล Top 100 ในปีนี้เช่นกัน จากการนำเสนอประเด็น “การฟื้นคืนเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิต”

เมืองเก่าสงขลาเป็นเมืองสำคัญของภาคใต้ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การผสมผสานของศิลปะและสถาปัตยกรรมจากหลากหลายวัฒนธรรม ได้แก่ ไทย จีน มลายู และตะวันตก เกิดเอกลักษณ์ที่น่าหลงใหลและสะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของหลายเชื้อชาติ บ้านเรือนในย่านเมืองเก่าสงขลาถูกสร้างขึ้นตามสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ทั้งตัวอาคารสีสันสดใสและลวดลายประดับสะท้อนถึงความเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองในอดีต

แม้สงขลาเคยเป็นเมืองท่าสำคัญที่เชื่อมต่อการค้าระหว่างดินแดนตะวันออกและตะวันตก แต่บทบาทนั้นค่อยๆลดลงเมื่อการขนส่งเปลี่ยนเส้นทางไปที่หาดใหญ่แทน เมืองเก่าจึงเริ่มสูญเสียความสำคัญทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตการค้าขายเปลี่ยนไปสู่การทำประมง ส่งผลให้มีผู้ใช้แรงงานบนเรือจำนวนมาก สถานเริงรมย์และการขายบริการเพิ่มขึ้น ก่อเกิดปัญหาขยะ อาชญากรรม และโรคติดต่อ คนสงขลาเริ่มย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บ้านเรือนที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยก็เสื่อมโทรมลง กลายเป็นบ้านเช่าแออัดและบ้านร้าง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมืองเก่าสงขลายิ่งเสื่อมโทรมลงคือ คนในชุมชนไม่เห็นความสำคัญและไม่เข้าใจการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม กลายเป็นการทำลายอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

...

ท่ามกลางความเสื่อมโทรม ชาวสงขลาที่รักและหวงแหนบ้านเกิดได้จัดประชาคมรับฟังความคิดเห็นและ มีฉันทามติในการพัฒนาฟื้นคืนเมืองเก่าสงขลา เริ่มจัดกิจกรรม “ฉายภาพเก่า เล่าเรื่องแต่ก่อน ย้อนเมืองสงขลา” นำภาพอาคารเก่า สถานที่ ชุมชน ประเพณี เหตุการณ์สำคัญ อาหาร สอดแทรกสาระความรู้คุณค่าของเมืองเก่าสงขลามาถ่ายทอดให้ประชาชนได้ซึมซับรับรู้

ปี 2556 ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม (Songkhla Heritage Trust) ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ สร้างกิจกรรมท่องเที่ยว ปลุกชีวิตชีวาเมืองเก่า

ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายส่งผลให้เกิด การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น สตรีทอาร์ต การแสดงโนรา การจัดรถรางนำเที่ยวดึงดูดนักท่องเที่ยวเยือนย่านเมืองเก่า ธุรกิจในชุมชนก็คึกคัก มีการเปิดร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านขายของที่ระลึก เพิ่มรายได้และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

การฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลาไม่ได้หยุดอยู่แค่การอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน แต่ยังมีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่น โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น โรงสีข้าวโบราณกว่า 100 ปี, หอศิลป์สงขลา, a.e.y.space, ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย, Titan Project Space, โนราบ้าน 168 เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและการแสดงออกทางศิลปะ

อาหารของสงขลาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้มาเยือนประทับใจ อาหารท้องถิ่นที่นี่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ได้รับอิทธิพลจากไทย จีน และมลายู เช่น ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ ข้าวยำ และอาหารทะเลสดใหม่จากท่าเรือ

การสนับสนุนนโยบายเมือง ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลาประสบความสำเร็จ โดยในปี 2553 มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าสงขลา และในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน มีโครงการสงขลาสู่มรดกโลก โดยเฉพาะในปี 2564 เริ่มขับเคลื่อนเมืองสงขลาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหาร

ด้วยบริบทของเมืองเก่าบวกกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้เมืองเก่าสงขลาฟื้นคืนกลับมามีชีวิตชีวา ในไทยยังมีอีกหลายแห่งที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม ถ้าภาครัฐเข้าไปแนะนำส่งเสริมอย่างจริงจัง สามารถฟื้นกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าได้.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม