เกิดเหตุ "นักเรียนหญิง ม.3" โรงเรียนมัธยมชื่อดัง จ.นครราชสีมา พลัดตกอาคารเรียนจากชั้น 7 จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนสาเหตุยังอยู่ระหว่างสอบสวน

เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุเด็กนักเรียนหญิงของโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พลัดตกลงมาจากอาคารเรียน ซึ่งหลังเกิดเหตุครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน พบเด็กผู้ประสบเหตุร่วงตกลงมาค้างอยู่ที่บริเวณลานชั้น 2 ของอาคาร โดยเป็นนักเรียนหญิงอายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าเด็กนักเรียนหญิงคนดังกล่าวพลัดตกลงมาจากชั้น 7 จากทั้งหมด 8 ชั้น ร่างกระแทกพื้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรีบประสานกู้ชีพ-กู้ภัยเข้าให้การช่วยเหลือ ก่อนเร่งนำส่งรักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา

ภายหลังเกิดเหตุ โรงเรียนได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เพื่อสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง พร้อมกันนี้ ได้รายงานเหตุให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมาทราบเรื่องที่เกิดขึ้น และแจ้งให้ผู้ปกครองเด็กทราบเรื่องแล้ว เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากปัญหาส่วนตัวของเด็ก ซึ่งหลังจากนี้ ทางโรงเรียนจะวางแผนร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในกลุ่มครูและนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ โรงเรียนมัธยมในจังหวัดนครราชสีมาเคยเกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนกระโดดตึกอาคารเรียนลงมาเสียชีวิตแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เด็กนักเรียนชายชั้น ม.3/1 ได้กระโดดตึกอาคารเรียนลงมาเสียชีวิต คาดว่าสาเหตุเกิดจากปัญหาส่วนตัว และในปีเดียวกัน โรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชื่อดังของจังหวัดนครราชสีมาอีก 2 แห่ง ก็เคยเกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนมัธยมกระโดดอาคารเรียนเสียชีวิต ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เด็กนักเรียนชายชั้น ม.6 ก็กระโดดอาคารเรียนลงมาเสียชีวิต และล่าสุดในวันนี้ก็มาเกิดเหตุลักษณะเดียวกัน

...

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์ทุกครั้ง ทางสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมาได้มีการวางมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนักเรียนกระโดดอาคารเรียนฆ่าตัวตายซ้ำอีก โดยได้สำรวจจุดอับ จุดเสี่ยงตามอาคารเรียนต่างๆ และกวดขันพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดเหตุ พร้อมทั้งประสานนักจิตวิทยาให้เข้าไปอบรมให้ความรู้แก่ครูที่ปรึกษา และเด็กนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า โดยจะให้ครูที่ปรึกษาและครูประจำชั้นช่วยคัดกรองนักเรียนกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อให้เข้ามาเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยา แต่แล้วก็ยังเกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก.