จากวันนี้ (อาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2567) เป็นต้นไป ก็อีกเพียง 5 วันเท่านั้น จะถึง “วันลอยกระทง” วันแห่งพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ ที่คนไทยได้ประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมาร่วมๆ 800 ปี นับตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
หลายๆจังหวัดหลายๆอำเภอ และหลายๆ ท้องที่ท้องถิ่นทั่วประเทศต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันจัดงาน “ลอยกระทง” ขึ้นใหญ่บ้างเล็กบ้างเป็นข่าวในสื่อมวลชนทุกแขนงในนาทีนี้
บนโต๊ะทำงานของหัวหน้าทีมซอกแซกเอง ก็มีข่าวคราววางซ้อนกันปึกใหญ่ ดังที่ได้สรุปช่วยประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวคราวไปบ้างแล้วหลายๆงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเกริ่นเอาไว้ว่า สำหรับ “ซอกแซก” วันอาทิตย์นี้จะขอสงวนไว้เพื่อเขียนถึงมหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานลอยกระทงที่ทีมงานของเราชื่นชอบเป็นพิเศษ อันได้แก่งานที่มีชื่อว่า “River Festival” ประจำปีต่างๆ ซึ่งใช้ถ้อยคำในภาษาไทยว่า งาน “สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย” ที่ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคย ได้ยินได้ฟังผู้คนพูดถึงมาตลอดในช่วงหลังๆนี้
เหตุที่ชื่นชอบเป็นเพราะแนวความคิดของคณะกรรมการจัดงานในการเชื่อมโยงหลายๆ งาน หลายๆวัฒนธรรม และหลายๆขนบประเพณีรวมถึงมีวิถีชีวิตจากชุมชนริมน้ำต่างๆ มาอยู่ในงานเดียวกันได้อย่างเหมาะสม
ทำให้มีทั้งประเพณีลอยกระทง, มีทั้งวัฒนธรรมชุมชนอันหลากหลายมาให้ชม, มีทั้งสินค้าชุมชน ซึ่งก็หลากหลายมาให้ชิม มาให้ช็อป ผ่านท่าเรือสำคัญของแต่ละชุมชน ซึ่งจะมีการจัดงานวัฒนธรรมท้องถิ่นรองรับในแต่ละครั้งที่มีการจัดงานควบคู่ไปด้วย
ส่วนการเดินทางไปเยี่ยมเยียนแต่ละจุดนั้นก็จะอาศัย “เรือด่วน” (ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย) เป็นยานพาหนะ ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับลำน้ำเจ้าพระยาและบรรยากาศของ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มอิ่มเป็นของแถม
...
ในการแถลงข่าวของบุคคลที่เกี่ยวข้องอาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล, ท่านประธานจัดงาน สุรพล เศวตเศรนี และ ฯลฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมาสรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า สำหรับปีนี้จะมาในแนวคิด “ยลสายน้ำ ยินทำนอง” โดยจะเชื่อมโยงวัฒนธรรมแห่งสายน้ำเคล้าคลอดนตรีไทย จากบทประพันธ์ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ คีตกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ใครดูภาพยนตร์ไทยเรื่อง “โหมโรง” มาแล้วคงจะจำท่านได้)
ขณะเดียวกันก็จะมีการแสดงมหกรรมแบบจารีต และร่วมไหว้พระขอพรอันเป็นมงคลดังเช่นที่ปฏิบัติมา ควบคู่ไปกับการสอดแทรกแนวคิดเรื่องรักษ์โลก ด้วยการเพิ่ม
ทางเลือกในการลอยกระทง ประทีปเทียนหอมใน “บ่อลอย กระทงรักษ์โลก” ขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้ทั้ง 10 พื้นที่ที่จัดงาน
สำหรับ 10 ท่าน้ำและสถานที่จัดงานปีนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นท่าน้ำเดียวกับปีที่ผ่านๆมา ได้แก่ 1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, 2.วัดอรุณราชวราราม, 3.วัดประยุรวงศาวาส, 4.วัดกัลยาณมิตร, 5.วัดระฆังโฆสิตาราม, 6.ท่ามหาราช, 7.เอเชียทีคเดอะริเวอร์ฟร้อนต์, 8.ท่ายอดพิมาน และ 9.ท่าสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม
ส่วนสถานที่ที่ 10 แม้จะมีสายน้ำเชื่อมถึง เพราะเป็นบริเวณท่าในคลองที่เรียกว่า “คลองโอ่งอ่าง” ซึ่งจะมีจุดเชื่อมไปจนถึง วัดบพิตรพิมุข และ อาคารศาลรัฐธรรมนูญ นั้นไม่แน่ใจว่าจะมีเรือด่วนมาช่วยบริการได้ คงต้องหาวิธีที่จะเดินทางไปเอง ซึ่งก็คงไม่ยากเย็นอะไร เพราะมีรถเมล์ผ่านไปใกล้ๆหลายสาย
แต่ละท่าแต่ละจุดแต่ละชุมชนข้างวัดสำคัญต่างๆ ก็จะนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายมีกิจกรรมและการละเล่นชุมชนมาแสดง หรือนำอาหารอร่อยๆมาวางขายควบคู่ไปกับการเปิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร หรือพระเจดีย์ต่างๆ ให้เข้ากราบไหว้บูชาอย่างใกล้ชิด
กิจกรรมทั้งหมดทั้งมวลจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ไปจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน รวม 3 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่ 16.00-22.00 น. ในวันที่ 14 และ 16 ส่วนวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงนั้น จะเปิดยาวให้ถึง 24.00 น. หรือเที่ยงคืนเลยทีเดียว
อนึ่ง สำหรับงานที่ถือว่าอยู่ในเครือข่ายของงาน “สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” มาหลายปีแล้ว อีกงานหนึ่งก็คือ งาน “Lamphun River Festival 2024” หรือครั้งที่ 6 ครับ จะจัดงาน 14-17 พ.ย. ณ ถนนรถแก้ว ฝั่งติดถนนอินทยงยศ ย่านเมืองเก่าลำพูน
คณะกรรมการจัดการฝากให้ช่วยประชา สัมพันธ์ให้พี่น้องชาวลำพูนไป...ไปเต๊อะไป “แอ่ว” อย่างพร้อมเพรียงกันด้วย
ทีมงานซอกแซกขอปรบมือให้แก่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ร่วมกันจัดงานนี้มาเผลอแผล็บเดียวย่างเข้าปีที่ 10 เรียบร้อย อันได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย, กองทัพเรือ ฯลฯ รวมทั้ง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ยืนหยัดเป็นหัวเรือใหญ่ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ และด้านทุนทรัพย์มาตั้งแต่ปีแรก
ในการแถลงข่าวท่านประธานจัดงานได้กล่าวสรุปว่า เมื่อปีที่แล้วได้รณรงค์ให้ผู้มาเที่ยวงาน ร่วมลอยกระทงในระบบ “ปิด” 100% ทำให้สามารถเก็บขยะกระทงและนำกลับมา “รีไซเคิล” ใช้ประโยชน์ต่อได้อีก
โดยสามารถเก็บขยะกระทงในงานนี้ได้มากกว่า 2,000 กิโลกรัม ส่งมอบให้ กทม.ไปแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้กว่า 307 กิโลกรัม และยังสามารถเก็บประทีปเทียนหอม นำกลับมาหลอมใหม่เป็นเทียนมอบให้แก่วัดในพื้นที่ นำไปใช้ในศาสนกิจได้อีก...ซึ่งปีนี้ก็จะดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไป
นี่แหละที่เขาเรียกว่า เที่ยวอย่างสนุกอย่างมีวัฒนธรรมและอย่างยั่งยืน ตามศัพท์ใหม่ที่ฮิตทั่วโลก “Sustainability” ณ ปัจจุบันนี้.
...
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม