เชื่อไหมว่า การเล่นอิสระมีประโยชน์มากมาย และช่วยให้ลูกพัฒนาตั้งแต่เล็กจนโต

เมื่อได้ยินคำว่า "เล่นอิสระ" อาจมีคำถามว่า เล่นแค่นี้จะมีประโยชน์อะไร? ให้เล่นอะไรก็ได้ไม่ต้องเล่นอิสระหรอก? ให้อิสระมากไปจะกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจหรือเปล่า? แล้วอิสระแค่ไหนถึงจะเรียกว่าอิสระ?

เรามาทำความเข้าใจการเล่นอิสระไปพร้อมกัน

เล่นอิสระ คืออะไร?

เล่นอิสระ (Free Play) คือ การที่เด็กได้คิดตัดสินใจเอง ว่าจะเล่นอะไร เล่นอย่างไร โดยไม่ต้องมีเป้าหมายอื่น นอกจากความสนุก

เด็กๆ เล่นกันอย่างอิสระอยู่แล้ว เพราะมันสนุกและน่าสนใจ แต่เมื่อมองผ่านสายตาผู้ใหญ่ กลับเต็มไปด้วยความเป็นห่วงว่าจะสกปรกเลอะเทอะ บาดเจ็บ หรือห่วงว่าจะไม่ได้ประโยชน์จากการเล่น จึงแทนที่ความอิสระด้วยเสียงเตือน คำสั่ง คำขู่ ซึ่งอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

มาส่งคืน ‘อิสระ’ ให้กับการเล่นของเด็ก

อิสระจากความคิดชี้นำของผู้ใหญ่: ปล่อยให้เด็กสร้างสรรค์การเล่นด้วยตัวเอง

อิสระที่จะตัดสินใจ: รู้จักแก้ปัญหาเอง โดยผู้ใหญ่ไม่ต้องเข้ามาจัดการทันที

อิสระจากความคาดหวังต่างๆ: ไม่ต้องกดดันว่าเล่นแล้วต้องได้อะไร เน้นความสุขสนุกสนานเป็นหลัก

อิสระจากกฎกติกา: ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่คำว่า อิสระ ในที่นี้ ไม่ได้แปลว่า สามารถทำทุกอย่างได้ตามใจ หรือเอาแต่ใจตัวเอง

การเล่นอิสระต้องมาพร้อมกับข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เป็นการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ โดยพ่อแม่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยดูแลการเล่น (Play Worker) เพื่อให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุขและปลอดภัย

ดูแลในระยะสายตา: คอยสนับสนุนการเล่นของเด็ก

สังเกตการเล่น: ประเมินความเสี่ยง หรือเล่นด้วยเมื่อเด็กชวน

กำหนดขอบเขตการเล่น: คิดร่วมกันกับเด็กให้แน่ใจว่าเล่นแล้วปลอดภัย

จัดสภาพแวดล้อม: พาไปเล่นกลางแจ้งหรือเตรียมมุมเล่นภายในบ้าน

กระตุ้นความคิด: ตั้งคำถามปลายเปิดโดยไม่ชี้นำคำตอบ

ให้กำลังใจและชื่นชม: โดยไม่ขัดจังหวะ

รับฟังเสียงของเด็กๆ: โดยไม่ด่วนตัดสิน

สอนการสร้างระเบียบวินัย: เช่น เล่นแล้วเก็บเข้าที่

เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ ช่วยสร้างพลังผลักดันภายใน สะสมไว้ตั้งแต่เล็กไปจนโต

เมื่อเด็กๆ ได้เล่นอิสระ เช่น วิ่งเล่น กระโดด ปีนป่ายต้นไม้ ก่อกองทราย หรือประดิษฐ์ของเล่นเอง นอกจากความสนุก ยังมีพลังงานบางอย่างแฝงอยู่และจะค่อยๆ สะสมเป็นพลังผลักดันภายใน ที่จะเติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ และช่วยให้พวกเขาเอาตัวรอดได้ในชีวิตจริง

● พลังความกล้า: ฝึกคิดตัดสินใจเอง ทำให้มีความกล้าในการตัดสินใจ

● พลังการเรียนรู้: คิดค้น ทดลอง มองหาไอเดียใหม่ๆ ทำให้ทุกเรื่องรอบตัวกลายเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้

● พลังการค้นพบ: ลองผิดลองถูก ทำให้ค้นพบความถนัดและความสามารถของตัวเองเร็วขึ้น

● พลังสร้างสรรค์: ไม่มีกรอบความคิดผู้ใหญ่มาครอบไว้ ทำให้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่

● พลังความมั่นใจ: ทำอะไรด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง

● พลังความสุข: การเล่นอย่างอิสระทำให้จิตใจแจ่มใส มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

● พลังความรักและแบ่งปัน: เข้าใจคนอื่น เอื้อเฟื้อแบ่งปัน รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ

การเล่นของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็มีประโยชน์ ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการเล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์ ที่พวกเขาจะได้คิดตัดสินใจด้วยตัวเอง และมีความสุขกับการเล่นในแบบที่ต้องการ

อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเล่นอิสระ ดาวน์โหลด คู่มือการเล่นอิสระ ได้ที่ https://creativehealthcampaign.thaihealth.or.th/microsite/healthyfamily/children/08003/content/4223?cx_trackid=UWr4PLtI9TepCBTRao3V&utm_source=website

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :