มีตัวละครในกลอนบทหนึ่ง ชื่อรณจักร ผมไม่รู้จักว่าเป็นใคร ทั้งท่องทั้งร้องมาตั้งแต่ตอนเรียน ป.เตรียม ก็ พ.ศ.2496 ตอนนั้นพออ่านออกเขียนได้

รณจักรกวักหัตถ์ตรัสประภาษ ร้องเรียกราชธิดามารศรี มาเถิดหนาแม่มาไปธานี ถึงบุรีจะทำขวัญกัลยา

พยายามนึก ได้จากบาทขาดราคาเชิญมาซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา...เล่มไหน? พระอภัยมณี โม่งป่า ฯลฯ หรือจำจากปากแม่...แม่เจ้าบทเจ้ากลอน คงจะมากับบางบทที่ออกสัปดน

บ้าหวยกระบวยแห้ง กว่าหวยจะดีสีก็แดง หรือ...สุวรรณหงส์ถูกหอก อย่าบอกใคร นั่นล่ะกระมัง

ชื่อ “รณจักร” ฝังลึกมากในความจำครับ...ครึ้มๆก็ร้อง ออกมาที ร้องจบแล้วก็คิดถึงแม่ที

ผมมีความหลังฝังใจไปไม่ถึงถ้ำเขาหลวง เมืองเพชรสักที  เมื่อวันพฤหัสเพื่อนจิตอาสาว่างคิวงานพาไปปีนบันไดเข้าไปกราบสารพัดพระ ที่พอรู้ว่ารัชกาลที่ 4 กับ 2 พระโอรสทรงสร้างไว้

ออกมาก็ไหว้อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ที่ลูกๆท่านเก็บร่างรอกำหนดเผา...ที่วัดยาง

โชคดี เอียด-นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว วางมือจากการตรวจต้นฉบับหนังสืองานศพพ่อ ออกมาเห็นหน้ากัน ผมก็ได้หนังสือมาอ่านตุนเรื่องเขียนคอลัมน์ไว้ก่อนอีกสองเล่ม

กลับถึงไทยรัฐ  เจอหนังสือนิทานนางตันไตรย  หนังสือหมายเหตุเฟซบุ๊ก กุสุมา 80 มีชื่อศาสตราจารย์กิตติคุณ กุสุมา รักษมณี วางรอ บนโต๊ะทำงาน

ชีวิตที่ดิ้นรน “หาเรื่อง” ทุกวัน...หนังสือสี่เล่ม เนื้อหาตรงจริตได้ ในวันเดียว เป็นโชคดีสี่ชั้น

เปิดอ่านเล่มหมายเหตุเฟซบุ๊กฯ ถึงหัวข้อเกมวรรณคดีของ

คนโบราณ...ไม่ใช่ถูกหวยเลขท้าย ผมถูกรางวัลที่ 1

เจอตัวตนของ “รณจักร” ที่คุ้นเคยเข้าแล้ว อาจารย์กุสุมา รักษมณี เขียนเมื่อ 7 ก.ย.2559 ค่อยๆอ่านไปด้วยกัน

...

วันนี้ท่านอาจารย์กาญจนา นาคสกุล  เล่าให้ฟังว่า ในวัยเด็กเคยเล่นเกมอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่ซื้อชฎาจากงานภูเขาทองมาให้เด็กหญิงสวม แล้วผู้ใหญ่กับเด็กก็จะทำสุ้มเสียงเจรจาเหมือนเล่นละคร

ผู้ใหญ่เป็นรณจักร เด็กผู้หญิงเป็นบุษมาลี มีบทร้องและเจรจา ดังนี้

ผู้ใหญ่-(ร้อง) รณจักรกวักหัตถ์ตรัสประภาษ ร้องเรียกราชธิดามารศรี มาเถิดหนาแม่มาไปธานี ถึงบุรีจะทำขวัญกัลยา (เรียก) บุษมาลี เอ๋ย เด็ก (ลากเสียงขานรับ) เจ้าขา ผู้ใหญ่–อยู่กับพ่อหรืออยู่กับผัว

เด็ก-อยู่กับผัว ผู้ใหญ่ (ตวาด) อุเหม่! เด็ก (ตกใจร้อง) ว้าย! แล้ววิ่งหนี

อาจารย์บอกว่า พูดถามตอบกันแค่นี้เอง แต่การเจรจาด้วยน้ำเสียงที่ใส่อารมณ์ให้เข้ากับเรื่องทำให้รู้สึกสนุก

เล่นกันกี่ครั้งๆ ก็ยังไม่เบื่อ

เกมนี้บอกอะไรเราบ้าง ตัวละครและเหตุการณ์ตอนนี้มาจากบทละครเรื่องพระสมุท พระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และเป็นเรื่องที่ลิเกนิยมเล่นกันด้วย

รณจักรเป็นยักษ์ มีธิดาเลี้ยงชื่อ บุษมาลี พระสมุทมาลักพานางหนีไปอยู่ด้วยกัน รณจักรไปตามหานาง เมื่อพบก็ได้สู้รบกับพระ

สมุท รณจักรพ่ายแพ้ พยายามจะเรียกธิดาให้กลับไปกับตน แต่นางเลือกจะอยู่กับพระสมุท

ผู้ใหญ่เลือกเรื่องนี้มาเล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับวรรณคดี ใช่หรือไม่

อย่างน้อยชื่อรณจักร กับบุษมาลี ก็จะติดอยู่ในความจำของเด็ก ไหนจะมีคำถามให้เลือกด้วยว่าจะอยู่กับใคร 

ทำให้รู้เรื่องความขัดแย้งที่เป็นโครงเรื่องไปด้วย น่าเชื่อว่าบทเจรจานี้คงจะกระตุ้นให้เด็กอยากรู้เรื่องมากขึ้น

แล้วจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะเล่าเรื่องให้เด็กฟังต่อไป เป็นวิธีสอนวรรณคดีทางอ้อมที่น่าจะได้ผล

เรื่องของอาจารย์กุสุมาจบแค่นี้ มีเงื่อนให้ผมคิดต่อ ละครเรื่องพระสมุท...สอนอะไร?

คำตอบในเรื่องให้บทเรียน  ถ้าต้องเลือกระหว่างพ่อกับผัว? แน่นอน เรื่องการบ้านผู้หญิงก็ต้องเลือกผัว แต่...มีแต่ ถ้าเป็นการเมืองรู้ๆกัน พ่อสำคัญกว่า ถ้าไม่มีพ่อลูกก็ไปต่อไม่ได้.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม