เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม คือผู้กำกับภาพในวงการหนังไทยมาแล้วเกือบ 30 ปี เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองจากงานกำกับภาพเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน (2000)  และผลงานอีกมากมาย อาทิ นาคปรก (2008), ชั่วฟ้าดินสลาย (2010), มนต์รักนักพากย์ (2023), บางกอกคณิกา (2024) หรืองานกำกับ MV ประเทศกูมี ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship 

โดยสังเขป ‘ธีระวัฒน์’ คือผู้กำกับภาพมากฝีมือ และเป็นนักประชาธิปไตยที่เกลียดอยุติธรรมและเผด็จการอย่างถึงแก่น อันจะเห็นได้จากผลงานของเขาที่เมื่อว่างเว้นจากงานภาพยนตร์ในวงการ เราก็อาจพบเขาได้ในที่ๆ แสงเทียนรำลึกส่องสว่าง ในม็อบที่ปกคลุมด้วยเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา และไม่เคยหายไปจากการเล่าเรื่องของผู้ถูกกดขี่ หรือความตายของปุถุชนจากน้ำมือของรัฐลอยนวลพ้นผิด

‘ตากใบ’ คือหนังสั้นที่กำกับโดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม เขาใช้ภาพยนตร์จำลองห้วงเวลาของมนุษย์คนหนึ่ง ขณะถูกโยนขึ้นรถบรรทุกลายพรางในสภาพในสภาพถูกมัดมือไพล่หลัง ก่อนที่ร่างจะถูกทับถมด้วยเพื่อนมนุษย์เป็นชั้นๆ ท่ามกลางเสียงร้องขอความช่วยเหลือ เหงื่อและเลือดที่ไหลจากร่างชั้นบนสู่ชั้นล่าง เสียงอธิษฐานต่อพระเจ้า (ดุอาอ์) ที่ค่อยๆ เบาลงและหายไป และร่างอันไร้วิญญาณเกลื่อนรถ ที่แม้เวลาผ่านไปแล้วถึง 20 ปี กลับไม่มีแม้แต่ศพเดียวได้รับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรม’

...

1

25 ตุลาคม 2547 วันนั้นธีระวัฒน์อาจจะกำลังถ่ายหนังเรื่อง นาคปรก (2008) หรือไม่ก็เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย (2010) เขาจำไม่ค่อยแม่นนัก แต่ที่ไม่เคยลืมคือการรายงานข่าว ‘สลายชุมนุมที่ตากใบ’ และตัวเลขการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 50 ศพ เป็น 60 ศพ เป็น 70 ศพ และ 85 ศพ 

เมื่อตามข่าวลึกลงไปก็ยิ่งแปลกใจ เมื่อเขาพบว่าโศกนาฏกรรมนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการขนย้ายผู้ชุมนุม จาก สภ.ตากใบ ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระยะทาง 150 กิโลเมตร ทว่ากลับกินเวลานานถึง 5 ชั่วโมง 

มันคือ 5 ชั่วโมง ที่มนุษย์ถูกจับมัดมือนอนอัดซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในรถบรรทุก พวกเขาที่ไร้เรี่ยวแรงจากการอดอาหารในเดือนรอมฎอน ดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยสภาพที่อากาศมีจำกัด “มันมีคนร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดว่า …ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว…ในขณะที่ทหารก็ยังคุยเล่นกันอยู่ข้างๆ รถ มันแสดงว่าเขาไม่ได้มองว่าคนในรถวันนั้นไม่ได้เป็น 'คน' เขาปฏิบัติเหมือนคนเหล่านั้นเป็นสัตว์ ขังคอก แล้วเอาไปปล่อย”

2

ธีระวัฒน์พล็อตเรื่องราวตากใบนี้ไว้ในใจหลายปี กระทั่งวันหนึ่ง เขาเดินทางไปที่นราธิวาสเพื่อพบปะลูกศิษย์ที่เคยสอนการถ่ายภาพในสามชายแดน และได้พูดคุยกับ ‘เหยื่อ’ ผู้รอดชีวิต ทั้งผู้หญิงที่ถูกยิงขณะสลายการชุมนุม และชายที่เผชิญชะตากรรมบนรถบรรทุก หลายคนแม้รอดมาได้ แต่ก็ต้องสูญเสียแขนขาจากการถูกกดทับจนเนื้อเน่าตาย และดำรงชีวิตต่อไปบนนรกทางใจ ตื่นผวากลางดึก จากเหตุการณ์ที่เหนือเกินกว่าคนๆ หนึ่งจะทนได้ 

“พี่คนหนึ่งพูดกับผมว่า …เขาทำกับเราเหมือนเราไม่ใช่มนุษย์นะ …เพราะถ้าเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นคน เขาควรมีความรู้สึกห่วงเมื่อเหยื่อร้องขอความช่วยเหลือ ถูกทับกัน 4-5 ชั้น เจ้าหน้าที่ควรมีความรู้สึกบ้างโดยสามัญสำนึก แต่เมื่อเขาวางเฉย มองว่าเป็นเรื่องปกติของปฏิบัติการ โดยที่ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ  ตรงนี้แหละคือเหตุผลหลักที่ผมทำหนังเรื่องนี้ออกมา”

3

โจทย์ของหนังเรื่อง ‘ตากใบ’ คือการถ่ายหนังอย่างไรให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกทับอยู่บนรถบรรทุกคันนั้น แล้วค่อยๆ ขาดอากาศหายใจไปพร้อมกับพวกเขา โดยใช้ภาษาภาพยนตร์เป็นสื่อกลาง เพื่อสร้างให้คนดูรับรู้และรู้สึก ถึงสิ่งที่เหยื่อรู้สึกมาตลอด 20 ปี 

...

“คนดูอ่านแค่ข่าวและเห็นถึงความสะเทือนใจบางอย่าง แต่ผมอยากให้หนังมันจำลองถึงภาวะขาดอากาศหายใจ เพื่อให้คนดูรู้สึกอย่างที่คนเหล่านั้นโดนกระทำ ผมว่ามันมากกว่าแค่ข่าวสารข้อมูล แต่มันคือความรู้สึกของการดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากความตาย”

4

ในฐานะคนทำหนัง มันเป็นความรู้สึกเสียดายและอัดอั้นที่ประวัติศาสตร์ภาคประชาชนหลายชุดไม่ปรากฏอยู่ในจอภาพยนตร์ แต่กลับยอมหมอบอยู่ในกรอบความบันเทิงหรือ Propaganda (การโฆษณาชวนเชื่อ) โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็นที่วงการหนังไทยเดินตามสูตรการประวัติศาสตร์หรือเล่าเรื่องฉบับหนึ่งที่ส่วนกลางพยายามจะยัดเยียด จนกลายเป็นนิสัยของคนทำหนังไทยไปแล้วว่า ‘เรื่องแบบนี้ห้ามทำ’ เป็นวาทกรรมครอบความกลัวบนหัวคนแทบจะทุกวงการในประเทศ

“ไม่เฉพาะวงการหนังหรอกครับ เพราะวัฒนธรรมของชาติก็ถูกผูกขาดด้วยประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าแบบหนึ่งไปแล้ว โดยที่รัฐอนุญาตให้คุณเล่าได้แบบเดียว หากต่างออกไปคุณก็จะเจอกฎหมายและกลไกบางอย่างของรัฐเล่นงาน มันเป็นกันทั้งประเทศ” 

สำหรับธีระวัฒน์ ปัจจุบันวงการหนังไทยเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย จากเดิมที่เหตุการณ์ 6 ตุลา เคยเป็นเรื่องแสลงในภาพยนตร์ แต่ในวันนี้ เราได้ดูการบอกเล่าเหตุการณ์นี้ในหนังตาคลี เจเนซิส (2024) เช่นเดียวกับผู้กำกับอีกหลายคนที่สนใจประเด็นทางสังคมการเมือง แต่การจะฝ่ากฎหมายเซ็นเซอร์หรือกฎหมายความมั่นคงในบ้านเราเพื่อเอาเหตุการณ์จริงเหล่านี้ไปอยู่ในภาพยนตร์นั้น ยังคงต้องใช้วิธีการและเวลาอีกมากมาย… มันคงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่เขาเชื่อว่ามันจะต้องดีกว่านี้

...

5

ในความคิดของธีระวัฒน์ ‘คดีตากใบ’ คงไม่ต่างอะไรกับอีกหลายๆ คดี ที่รัฐลอยนวลพ้นผิดอีกครั้ง นั่นเพราะมันยากเหลือเกินเมื่อคู่กรณีของประชาชนคือเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งที่ธีระวัฒน์ ทำได้ในฐานะคนทำหนัง คือใช้ทักษะและความรู้ที่มีสื่อสารออกมาอย่างตรงไปตรงมาว่า วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดมันต้องไม่เกิดขึ้นอีก

เขาทิ้งท้ายว่า 

“สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคุณไม่มอบความยุติธรรมให้เขาก่อน คุณจะมาบอกให้เขาลืมไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่ได้ผิดอะไร ครอบครัวลูกเมียที่ยังอยู่ เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย คุณต้องปลดปล่อยตรงนี้ให้เขาก่อน แล้วค่อยมาพูดถึงสันติภาพหรือการอยู่ร่วมกัน” 

...


____

ไม่ว่าคุณจะอยู่ห่างไกลจากตากใบแค่ไหน ทั้งในแง่ระยะทาง และความรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์ หนังสั้นเรื่องนี้อาจพาคุณเข้าใกล้ ‘ความรู้สึก’ ของการต้องอยู่ระหว่างความเป็นและความตายของชาวตากใบ ที่ต้องตายทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด