หลายๆเรื่องจากหนังสือ นักเล่านิทาน (และเรื่องอื่น) (สวนเงินมีมาพิมพ์ พ.ศ.2562) ทำให้ผมรู้จัก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว มากขึ้น แท้จริงลูกสาวอาจารย์ล้อมเกิดมาเพื่อเป็นนักประวัติศาสตร์คำบอกเล่าตัวจริง

หัวข้อ (5) นิพัทธ์พร เริ่มต้นว่าเมื่อครั้งที่ไปสืบหาความเป็นมาของเขตหนองแขม หาข้อมูลเกี่ยวกับการขุดคลองภาษีเจริญ ก่อนเริ่มงานเธออ่านหนังสือจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์

ปะติดปะต่อกับคำบอกเล่าของ “พ่อยิ้ม” หรือพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ประกาศชักชวนให้ชาวบ้านลงความเห็น เงินที่ใช้ขุดคลองนั้นควรใช้จากการตั้งโรงหวยหากำไร หรือจะเก็บเอาจากเรือชาวบ้านที่ขึ้นล่องใช้บริการ

หนังสือของพ่อยิ้ม เข้าลักษณะ “ประชาพิจารณ์” ครั้งแรกๆของเมืองไทย

จากนั้นนิพัทธ์พรก็ลงพื้นที่สำรวจย่านหนองแขม ควานหาคนเก่า จนได้พบยายอิน เชื้อเชย คนหนองค้างพลู

ยายอินเกิดปีชวด พ.ศ.2455 ตอนที่เจออายุ 87 ปี ความจำยัขุดคลองภาษีเจริญงสดใส เสียงดังฟังชัด เล่าเรื่องทุ่งนา พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เกวียน ควาย ฯลฯ สารพัด นั่งคุยสนุกสนานซะหลายชั่วโมง

ถึงตอนหนึ่ง ยายก็ทำตายิบๆ เรียกดิฉันเข้าไปใกล้ ทำท่าป้องปากกระซิบกระซาบ หัวเราะกิ๊กกั๊กเห็นเหงือกแดงๆ น่ารักเป็นที่สุด

“นี่หนู...มีเรื่องประหลาดจะเล่าให้ฟัง ตอนได้ยินครั้งแรก ฉันยังเป็นเด็กสาวๆ โอ้โหย! ตกใจแทบตาย...ยายทวดฉันชื่อแม่เน่า อาของแม่เน่าเล่ามา แล้วแม่เน่ามาเล่าให้ฉันฟังอีกที

รู้ไหม ไอ้คลองภาษีเจริญน่ะ เขาเอาคนจีนมาขุด เป็นเจ๊กตัวขาวๆ มันมาจากเมืองจีน อาเขาเล่าว่ามันแก้ผ้าขุด...” คุยถึงตรงนี้ยายอินหัวเราะเสียงดัง “มันไม่รู้ภาษา มันร้อน มันแก้ผ้าขุดกันทั้งคลอง

สาวๆคนไทยไปแอบดู โดนพ่อแม่ไล่ด่าตีกันเปิดเปิง!”

...

ดิฉันฟังแล้วก็ตกใจไปเหมือนกัน ไม่ได้ตกใจกับเรื่องเจ๊กแก้ผ้านั่นหรอก เพราะคนเดี๋ยวนี้ทั้งหญิงทั้งชายมันทำอะไรประหลาดพิสดารมากกว่าการแก้ผ้าไปอีกเยอะ

แต่ที่ตกใจ เพราะคลองภาษีเจริญซึ่งขุดเมื่อปี พ.ศ.2410 นมนานซะจนเหตุการณ์นั้น มีบันทึกเป็นข้อมูลดิบอยู่เพียงไม่กี่บรรทัด

แต่เกือบ 150 ปีภายหลัง เรื่องเล่าแปลกประหลาดที่คงจะปิดบังกันให้แซ่ดในยุคนั้น กลับยังมีชีวิตเหลือรอดผ่านรุ่นคนถึง 5 เจเนอเรชันกว่าจะมาถึงดิฉัน เดินทางมาได้ยังไงกันนี่ข้อมูล

ยังมีเรื่องเล่า ตาผาด ทองรอด (เกิด พ.ศ.2458) คนฝั่งธนย่านทวีวัฒนา เรื่องการตอนควาย คัดเลือกควาย ตัวไหนโง่ ดื้อ บื้อ สนุกสุดๆ แต่เรื่องที่ประหลาดใจในพลังของเรื่องเล่า ก็คือเรื่องที่ตาพูดถึง

สมัยก่อนนาล่มบ่อยๆ ผมเคยถามคนอายุสักแปดสิบ เขาบอกไม่เคยเห็นมี แต่ตอนปี 85 น้ำท่วมใหญ่ ที่นาล่มกันหมด แต่แม่ผมเขาเล่า สมัยรัชกาลที่ 2 เคยมีนาล่มใหญ่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นแม่ยังไม่เกิด ยายแม่เป็นคนเล่าให้ฟัง เขาเรียกปีน้ำล้างทุ่ง น้ำท่วมมาก นาล่มหมด ทั้งฝั่งธนฝั่งพระนคร...

นิพัทธ์พรเคยอ่านประชุมพงศาวดารภาค 8 (พ.ศ.2365) ข้าวเกวียนละ 7 ตำลึง ข้าวสารถังละ 3 สลึงเฟื้อง ปีนี้งูน้ำกัดคนตายมาก

ได้ฟังประวัติศาสตร์คำบอกเล่า... (อายุเกิน 200 ปี) แล้วนิพัทธ์พร กลับโรงพิมพ์สารคดี ดีใจจนเดินรอบห้อง ยังกะเสือติดจั่น แหม...มันตื่นเต้น อยากเล่าให้ใครซักคนฟัง

อ่านถึงตอนนี้ ผมจึงแน่ใจเพิ่มขึ้น หลังจากแอบฉงนสนเท่ห์มาหลายปี...ที่รู้ว่าแค่คำ “หมอตำแย” คำเดียว นิพัทธ์พร ติดตามถาม ติดตามค้นจนรู้ว่า มาจากไหน ใช้เวลาไปถึง 20 ปี

ผมคงต้องอดใจรออ่าน ลอกเรื่องเล่า ของเธอมาขยายให้ท่านฟังต่อไป...เรื่องแบบว่าฟังแล้วยิ้มออกหาฟังยาก บ้านเมืองเราตอนนี้มันอะไรกันนักหนา นี่ก็พิธีกร ดารา หลอกต้มคน โน่นก็นักการเมืองแบล็กเมล์.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม