จากประเด็นเรื่องน้ำที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน หรือปัจจุบันได้ยกระดับให้เป็นภาวะโลกเดือดแล้ว ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว อันนำมาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือน้ำท่วม สภาวะเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความจำเป็นที่ต้องรักษาแหล่งทรัพยากรน้ำและอาหารนี้ให้คงอยู่ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว

การดัดแปรสภาพอากาศจึงเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่แห้งแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความท้าทายดังกล่าวในระยะยาว ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้สนองและสืบสานพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อความอยู่ดี กินดี และมีความสุข ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีฝนหลวง ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สำหรับนำมาใช้ในการป้องกัน บรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งร่วมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคการเกษตร และรักษาระบบนิเวศของประเทศด้วย

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ อันเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการดัดแปรสภาพอากาศของประเทศไทยและประเทศผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้แบ่งปันกันให้ได้มากที่สุด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการปฏิบัติการ และร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอันจะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนจากต่างประเทศจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ มองโกเลีย ศรีลังกา และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ที่ประเทศไทย