เศรษฐกิจไทยปลายปีนี้คึกคัก หลังจากที่ กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เหลือ 2.25% เหมือนน้ำทิพย์มาชโลมใจ บวกกับการแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่การลดดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้ เหตุผลหลักไม่ได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง แต่มาจาก “หนี้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นครั้งแรก” โดยโฆษก กนง.ระบุว่า หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังลดลงได้อีก จากการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัว และจีดีพีที่เพิ่มขึ้น ฟังแล้วไม่ค่อยดีมากกว่าดี เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องนำไปพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับปัญหาที่มีอยู่ เราอยากเห็นภาพที่ หนี้ครัวเรือนไทยลดลงเพราะรายได้ครัวเรือนดีขึ้น ไม่ใช่หนี้ครัวเรือนลดลงเพราะรายได้ลดลง ทำให้ความสามารถในการสร้างหนี้ใหม่ลดลง ซึ่งไม่ช่วยให้จีดีพีดีขึ้นจริง

ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2 มียอดคงค้าง 16.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากปีก่อน เป็นอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่แบงก์ชาติมีการเผยแพร่ข้อมูลหนี้ครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 อาจเติบโตต่ำกว่า 1.0% เนื่องจากเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนและความสามารถในการก่อหนี้ใหม่ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยต้องทบทวนประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2567 ลงมาที่กรอบ 88.5–89.5% จาก 90.7% ในไตรมาสก่อน โดยหนี้ครัวเรือนไทยเริ่มชะลอมาตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ยอดคงค้างกู้ยืมภาค

ครัวเรือนอยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท เติบโตเพียง 1.3% เท่านั้น

4 เรื่องหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลง คือ

1.การทยอยหดตัวของหนี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ของครัวเรือนหดตัวลง 5.8% ในไตรมาส 2 สอดคล้องกับตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่หดตัวลง

...

2.สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์หดตัวลง ทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่และบ้านมือสอง ทั้งแนวราบและอาคารชุด หลังมาตรการผ่อนปรน LTV ช่วงโควิดสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2565 ยอดคงค้างสินเชื่อชะลอการเติบโตจาก 5.3% ในไตรมาส 3 ปี 2565 ลงมาเหลือ 3% ในไตรมาส 2 ปี 2567 เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี

3.หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น (ไม่รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ยังคงเร่งตัวขึ้น สวนทางกับหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ชะลอลง ภาพนี้สะท้อนว่า ครัวเรือนยังต้องพึ่งพาเงินกู้ มาบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อกินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

4.ครัวเรือนเริ่มมีการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินอื่น ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้น ในช่วง 3-6 ไตรมาสที่ผ่านมา อาทิ การกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้น 4% ในไตรมาส 2 สูงกว่าการกู้ยืมจากแบงก์ การกู้ยืมจากโรงรับจำนำก็เพิ่มขึ้น 9.7%

ทั้งหมดนี้คือปัญหาของเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติได้ การแจกเงินเป็นครั้งคราว เพื่อสร้างคะแนนนิยม อาจช่วยสภาพคล่องในครัวเรือนได้ แต่ไม่ใช่รายได้ที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องทำทันที ผมขอยกตัวอย่างนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของจีนมาให้รัฐบาลดูหนึ่งเรื่อง และขอส่งผ่านไปถึง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณของรัฐบาลเพื่อไทยและ นายกฯแพทองธาร ชินวัตร เพื่อช่วยขับเคลื่อนอีกแรง คือ “นโยบายหมายเลข 1 ของจีน การผลักดันการฟื้นฟูชนบทอย่างรอบด้าน” วันพรุ่งนี้จะเล่าให้ฟัง.

“ลม เปลี่ยนทิศ”