นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณากำกับดูแลพืช/ผัก และผลไม้คุณภาพ ซึ่งประมาณการข้อมูลในปี 2567 ปริมาณการส่งออกพืช/ผัก ผลไม้ ส่งออกกว่า 3 ล้านตัน จำนวนมากกว่า 230,000 ชิปเมนต์ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตร ได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง (สปษ.ปักกิ่ง) ว่าสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้มีหนังสือแจ้งการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสด ส่งออกไปจีนของไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2567 จำนวน 7 ครั้ง 18 ชิปเมนต์ ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกภาพรวมของประเทศคิดเป็น 0.0010% เป็นปริมาณน้อยมาก
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวแม้ว่าจะเกิดในปริมาณน้อย เพื่อเป็นการป้องปรามการเสียประโยชน์ส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการเชิงรุกทุกขั้นตอน ออกยาแรง สกัด ตรวจยกระดับ ควบคุมคุณภาพพืช/ผัก ผลไม้ ส่งออก นำเข้า กรมวิชาการเกษตร บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร (กส.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารด้านพืช (มกอช.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และหน่วยงานภาคอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำงานเชิงรุกทุกขั้นตอนร่วมกัน กำกับดูแลระบบมาตรฐานด้านการผลิต การนำเข้า และการส่งออกพืช/ผักและผลไม้ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาพรวมของประเทศหากมีการส่งออกสินค้าพืช/ผัก ผลไม้ที่ด้อยคุณภาพ มาใช้ในการติดตามหรือตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งแต่แปลงการเพาะปลูกที่ได้รับการรับรองการผลิตพืชตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) หน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การรับรองแก่ผู้ประกอบการ การรวบรวมและการบรรจุหีบห่อของโรงงานผลิตสินค้าพืช/ผัก และผลไม้ จนถึงการส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้า
นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้มีหนังสือแจ้งการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนสด ส่งออกไปจีนของไทย ว่าแคดเมียมเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ และพิษทางอากาศ อาจพบในพื้นที่ที่เคยทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองแร่สังกะสี อย่างไรก็ตามข้อมูลการสำรวจกรมพัฒนาที่ดินพบว่าแคดเมียมที่พบในพื้นที่ภาคการเกษตรในประเทศไทยไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สำหรับการดำเนินการหลังจากได้รับการแจ้งเตือนจาก GACC กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการดังนี้
• ระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) สำหรับแปลงเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่พบปัญหาแคดเมียมเป็นการชั่วคราว
• ระงับทะเบียนโรงคัดบรรจุ DOA และระงับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลสดไปนอกราชอาณาจักรของผู้ส่งออกที่พบปัญหาแคดเมียมเป็นการชั่วคราว
• ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงการปนเปื้อนแคดเมียม ในแปลงเกษตรกร และโรงคัดบรรจุที่พบปัญหาพร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ผลทุเรียน และปัจจัยการผลิต เช่น สารเคมี ปุ๋ย ที่เกษตรกรและโรงคัดบรรจุใช้ เพื่อทดสอบหาสารแคดเมียม
• สุ่มผลทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 รวมทั้งสิ้น 2,129 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียม 1,382 ตัวอย่าง พบแคดเมียมจำนวน 747 ตัวอย่าง ในปริมาณไม่เกินมาตรฐานที่จีนกำหนด 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปลอดภัยในการบริโภคตามมาตรฐานสากล
• การทดสอบดินและน้ำจากสวนที่มีปัญหา ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และยะลา จำนวน 18 ราย ไม่พบแคดเมียมในดินเกินค่ามาตรฐานสากล (แคดเมียมในดินอ้างอิงมาตรฐาน GB 15618 กำหนดไว้ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ทดสอบน้ำจากสวน 16 ราย ไม่พบแคดเมียมในน้ำเกินค่ามาตรฐานสากล (แคดเมียมในน้ำอ้างอิงมาตรฐาน GB 3838 กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
• การทดสอบดินและน้ำจากสวนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ทดสอบดินจากสวน 26 สวน 66 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานแคดเมียมในดินอ้างอิงมาตรฐาน GB 15618 และตรวจน้ำจากสวน 26 สวน 31 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมทั้ง 31 ตัวอย่าง
• การทดสอบผลทุเรียนจากสวนที่มีปัญหา ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และยะลา จากสวน 4 สวน 7 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนดที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
• การทดสอบผลทุเรียนจากโรงคัดบรรจุที่มีความเสี่ยงและสุ่มจากตู้สินค้าที่มีการเรียกกลับ โดยสุ่มตัวอย่าง 57 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานที่จีนกำหนด
• การทดสอบสารเคมี วัตถุเจือปนอาหาร และผงขมิ้นจากโรงคัดบรรจุ สารเคมีที่ใช้ในโรงคัดบรรจุ ประกอบด้วย สารป้องกันกำจัดโรคพืช สารเคลือบผิว สารจับใบ และสีผสมอาหารจำนวน 32 ตัวอย่าง ในผงขมิ้นสุ่มจำนวน 17 ตัวอย่าง พบค่าแคดเมียมไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิชาการเกษตรแจ้งเตือนโรงคัดบรรจุให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรฐานประเทศคู่ค้า เช่น พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับส่งออกพืช/ผัก ผลไม้ จากไทยไปจีน
กรมวิชาการเกษตรได้ประชุมร่วมกับ มกอช. กรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการหารือ พร้อมทำหนังสือแจ้งหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช (CB) ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ในกรณีที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โดยโรงคัดบรรจุจะต้องเลือกใช้ทั้งชนิดและปริมาณที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และ/หรือตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หรือข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ให้เป็นไปตามพิธีสารไทย-จีน และขึ้นทะเบียนสารเคมีให้ถูกต้อง นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งหน่วยรับรองโรงงานผลิตสินค้าพืช ขอให้ส่งข้อมูลการตรวจประเมินโรงงานผลิตสินค้าพืชที่ได้รับการแจ้งเตือนจากต่างประเทศให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาว่าได้ดำเนินการตามข้อกำหนดกระบวนการสำหรับหน่วยตรวจประเมิน และรับรองระบบการจัดการหรือไม่ และได้มีหนังสือแจ้ง มกอช. ในฐานะผู้ให้การรับรองระบบงาน และเป็นผู้อนุญาตผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรับรองหน่วยรับรองภาคเอกชน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยืนยันว่า แคดเมียมที่พบในพื้นที่ภาคการเกษตรไม่เกินมาตรฐานสากลที่กำหนด อนึ่ง แคดเมียมเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ และพิษทางอากาศ อาจจะพบในพื้นที่ที่เคยทำเหมืองแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองแร่สังกะสี ตามข้อมูลการสำรวจกรมพัฒนาที่ดินพบว่าแคดเมียมที่พบในพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สอดรับกับผลของการสุ่มผลทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนโดยกรมวิชาการเกษตรระหว่างวันที่ 2-16 กันยายน 2567 ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างทวนสอบและลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงกับหน่วยเฉพาะกิจพญานาคราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ และอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงฐานข้อมูล GAP Online ของกรมวิชาการเกษตรกับทะเบียนเกษตรกร (Farm book) ของกรมส่งเสริมการเกษตร และจะเชื่อมโยงไปฐานข้อมูลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในอนาคต เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าส่งออกไปถึงแหล่งผลิตพืช รวมทั้งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ E-Phyto lock seal สร้างระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจัดการข้อมูลการผลิตไปจนถึงการส่งออกผลไม้ทั้งระบบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์ นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารจะเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมกำกับหน่วยรับรองภาคเอกชน โรงคัดบรรจุผลไม้ รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามนโยบายของ รมว.เกษตรอย่างเข้มข้น สกัดพืช/ผัก ผลไม้ด้อยคุณภาพส่งออก มุ่งเน้นสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง ตามนโยบายรัฐบาลและความต้องการของผู้บริโภคและประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร