นับตั้งแต่ปี 2547-2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI มีคดีแชร์ลูกโซ่ในความรับผิดชอบ 200 กว่าคดี มีผู้เสียหายรวม 3 แสนกว่าคน และยังไม่นับรวมผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแต่ไม่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีอีกหลายเท่าตัว  มูลค่าความเสียหายร่วม 1 แสนล้านบาท และขยายวงกว้างไปแทบทุกอาชีพ ตั้งแต่ชาวบ้าน ไปจนถึงนักวิชาการ นักกฎหมาย นักบิน นักบัญชี แพทย์ วิศวกร

จากคดีแม่ชม้อยในปี 2525 ยุคที่ใช้กลยุทธ์ปากต่อปากชักชวนลงทุน จนถึงยุคดิจิทัลในปัจจุบัน มิจฉาชีพได้พัฒนาวิธีหลอกลวงมากมายที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยใช้การสร้างภาพลักษณ์ สร้างความน่าเชื่อถือสตอรี่ ใช้โซเชียลมีเดีย และใช้ผู้มีชื่อเสียงไม่ว่าจะดารา นักร้อง อินฟลูเอนเซอร์ ข้าราชการชั้นสูง กระทั่งการเมืองมาเป็นเครื่องมือในการทำกำไรมหาศาล ชนิดที่แยบยลเสมือนการประกอบธุรกิจสุจริตจนแทบแยกไม่ออก คำถามคืออะไรเป็นเงื่อนไขให้กลโกงยังดำรงอยู่ และมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยไป

โดยงานวิจัยเรื่อง DSI นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ โดย ดร.กฤษฎิ์นิธิ อุดมศักดพิ์ศิน กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้ทำการศึกษารูปแบบกลโกงและสำรวจเหตุผลและเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อไว้ ดังนี้

...

  1. ผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 65%
  2. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ 71%  เป็นกลุ่มที่มีงานและมีรายได้ประจำ มีเงินเดือนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 40,000 บาท/เดือน มีทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัท พนักงานรัฐวิสาหกิจ แพทย์ พยาบาล นักบิน นักบัญชี ตำรวจ ทหาร ทนายความ วิศวกร พนักงานธนาคาร
  3. ผู้เสียหาย 85%  รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นการลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุนเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก มีคนเพียง 15% เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่
  4. ผู้เสียหาย 38%  ไม่รู้จักตัวผู้แนะนำให้ลงทุน เพราะลงทุนผ่านโซเชียล เป็นการตอบโต้ผ่านแชทข้อความหรือไลน์
  5. ผู้เสียหาย 65% โอนเงินเข้าบัญชีชื่อบริษัท แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะโอนเงินเข้าบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับรอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกหลอกลวงจากแชร์ลูกโซ่
  6. เหยื่อแชร์ลูกโซ่มีมากถึง 1 ใน 4 ที่เป็นผู้ที่ชื่นชอบการลงทุน เป็นผู้ชอบเสี่ยง ในการลงทุนและเป็นนักลงทุนกับธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงและรวดเร็วแบบแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว
  7. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ที่แจ้งความดำเนินคดี มีถึง 1 ใน 5 ที่เคยตกเป็นผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่คดีอื่นมาแล้ว แปลว่า 1 ใน 5 คน ของผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่ เป็นผู้ที่ชื่นชอบความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว เพียงแต่ออกไม่ทันจึงตกเป็นเหยื่อ
  8. จำนวนผู้เสียหายที่แจ้งความดำเนินคดี มีเพียง 1 ใน 5 ของความเป็นจริงเท่านั้น เช่น ถ้าผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความมี 10,000 คน ในความเป็นจริงอาจมีผู้เสียหายถึง 50,000 คน
  9. เกินครึ่งของผู้เสียหาย ได้รับการชักชวนจากโซเชียลมีเดีย สะท้อนอิทธิพลของสื่อโซเชียล
  10. เกือบครึ่งของผู้เสียหายหรือประมาณ 44%  ตัดสินใจลงทุนเพราะมีคนที่รู้จักหรือสนิทสนมเคยลงทุนแล้วได้ผลประโยชน์ตอบแทนจริง ตนจึงลงทุนตาม พอโดนหลอกก็ไม่กล้าแจ้งความ เพราะกลัวเพื่อน ญาติ คนสนิท เดือดร้อน
  11. บริษัทแชร์ลูกโซ่ 36% มักอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนกับบริษัทในต่างประเทศ จงระมัดระวังไว้ เพราะมีโอกาสถูกหลอกมากที่สุด และไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของบริษัทจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าฯ
  12. เป็นที่น่าตกใจว่า ผู้เสียหายถึง 68% เชื่อและตัดสินใจที่จะลงทุนแม้จะยังไม่เคยพบหน้าผู้ที่ชักชวนแบบตัวเป็นๆ
  13. ผู้เสียหายถึง 93% เชื่อใจและมั่นใจที่จะลงทุนโดยไม่เคยแม้แต่จะเดินทางไปยังสถานที่ประกอบธุรกิจที่ตนเองตัดสินใจลงทุน (ตรงจุดนี้อันตรายมาก)
  14. ผู้เสียหายในส่วนใหญ่ 86% ใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก หรือไลน์ ในการสื่อสาร หากช่องทางดังกล่าวถูกระงับ การสนทนาก็จะไม่สามารถติดต่อระหว่างผู้ที่ชักชวนกับผู้ลงทุนใดๆ ได้เลย จนตกเป็นคดีความ
  15. ผู้เสียหาย 65% เชื่อและตัดสินใจลงทุนกับคนที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่เคยเจอตัวจริง สนทนากันผ่านทางโซเชียลเท่านั้น แต่ก็ยังยอมที่จะลงทุนเป็นแสนเป็นล้านบาทด้วยเหตุผลเดียวคือผลตอบแทนสูง
  16. หากช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ และโทรศัพท์ ถูกระงับหรือปิดลงผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ 92% ไม่รู้จะทำอย่างไร ติดต่อ ไม่ได้ก็เลยตกเป็นผู้เสียหายในทันที
  17. ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ 90% ต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐ และสื่อสารมวลชน สร้างเครื่องมือที่สามารถตรวจเช็คแจ้งเตือน บอกกล่าว วิเคราะห์ว่าธุรกิจใดเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือเข้าข่ายที่จะเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจลงทุน
  18. 1 ใน 4 ของผู้เสียหาย ซึ่งทราบการเตือนภัยจากภาครัฐและสื่อสารมวลชนให้ป้องกันระวังภัยจากแชร์ลูกโซ่ แต่หากการลงทุนมีผลกำไรดี มีผลตอบแทนเร็ว ก็จะยังดันทุรังที่จะลงทุนแม้ว่าจะทราบดีว่าเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากคิดว่า ตนเองเข้าไว ออกไว และจะออกได้ทัน (แต่สุดท้ายก็ยังตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่) 

งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์กลโกงของแชร์ลูกโซ่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พบว่า ธุรกิจแชร์ลูกโซ่มีเล่ห์เหลี่ยมที่น่าสนใจอยู่ 25 ประการ ดังนี้ 

กลโกงที่ 1 หลอกให้เกิดความอยากได้ โดยการใช้ผลตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ/ล่อใจ ว่ามีการให้ผลตอบแทน กำไร การปันผลในจำนวนเงินที่สูงเกินความเป็นจริง 

กลโกงที่ 2 ใช้วิธีสร้างภาพโชว์รวย โชว์การใช้ชีวิตหรูหรา (กินหรู อยู่สบาย) ใช้รถหรู บ้านหรู โชว์เงินสดจำนวนมากๆ เป็นปึก ๆ 

กลโกงที่ 3 สร้างภาพให้เห็นว่า บริษัทหรือกิจการนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว แบบก้าวกระโดดหรือฉับพลัน 

กลโกงที่ 4 เขาจะเชิญชวนโดยทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้โคตรโชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบเจอบริษัทหรือกิจการนั้น ๆ 

กลโกงที่ 5 ให้เราไปเชิญชวนบุคคลอื่น แล้วให้คำแนะนำเชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วม ในลักษณะแบบแม่ทีม ลูกทีม 

กลโกงที่ 6 เชิญชวนเราไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่น Line-Facebook กลุ่มที่เป็นห้องลับไม่ใช่สาธารณะ ซึ่งเป็นห้องสนทนาส่วนตัวที่มีแต่ทีมมิจฉาชีพเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เพื่อชักจูงให้เราเกิดความอยากลงทุน อยากได้รับผลตอบแทนสูงๆ 

กลโกงที่ 7 จูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาเชิญชวนในอัตราที่สูง โดยจ่ายแค่ครั้งแรกๆ ก่อนที่จะหอบเงินหนี 

กลโกงที่ 8 อุปโลกน์ยกตัวอย่างคนที่ได้รับผลตอบแทน ให้เห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูงจริง เพื่อจูงใจ 

กลโกงที่ 9 สร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย 

...

กลโกงที่ 10 แอบอ้างว่ามีการจัดตั้งบริษัทหรือกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง ยังไม่ได้รับการอนุญาต สคบ., ก.ล.ต. หรือ ธปท. 

กลโกงที่ 11 แอบอ้างว่ามีการจดทะเบียนหรือร่วมลงทุนกับธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศ 

กลโกงที่ 12 แสดงให้เราเห็นว่า เมื่อเขามาเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือกิจการของเขาแล้วจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม

กลโกงที่ 13 แอบอ้างว่า บริษัทหรือกิจการจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศ 

กลโกงที่ 14 แสดงให้เราเห็นว่าเขามีบริษัทหรือกิจการในเครืออีกหลายแห่ง เพื่อให้เห็นว่าเขามีธุรกิจและมีเครือข่ายกว้างขวาง 

กลโกงที่ 15 เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาลงทุนได้ หรือเป็นสมาชิกในบริษัท หรือกิจการได้ไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวน หรือไม่จำกัดสถานภาพหรืออายุ ใครๆ ก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้ 

กลโกงที่ 16 ทำให้เราตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำให้เราเกิดความงง และให้เราเข้าใจว่า สาเหตุที่คนอื่นๆ ที่เขามาลงทุนร่ำรวยมากขึ้น เพราะเกิดจากการเข้ามาลงทุนนี้ 

กลโกงที่ 17 เชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนา เขาจะแสดงว่ามีแผนธุรกิจที่สามารถทำให้ลงทุนแล้วเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้กำไรงาม 

กลโกงที่ 18 โฆษณาว่า เป็นการทำธุรกิจแนวใหม่ หรือเป็นการลงทุนแบบใหม่ (Start UP) หรือลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์ตัวใหม่ๆ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีความทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรนด์ (Trend) มาแรง ลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนสูงปรี๊ด 

กลโกงที่ 19 รับประกัน หรือการันตี (guarantee) ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีเสียโอกาส หรือไม่มีการขาดทุนเด็ดขาด 

...

กลโกงที่ 20 เชิญชวนว่าหากชอบทำงานสบาย งานง่ายๆ ไม่ลำบาก ไม่ยาก ทำงานได้โดยไม่กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ ลงทุนน้อย ได้รับผลตอบแทนสูง และได้รับแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น 

กลโกงที่ 21 เขาจะการนำเงินสดของเราไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุน ที่บริษัทหรือกิจการกำหนดขึ้นมาเอง (เอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินสมมุติที่ทางเขากำหนดขึ้นมา) 

กลโกงที่ 22 เขาจะให้เราไปเชิญชวน/ชักชวนคนใกล้ชิดของเราเข้ามาลงทุน หรือให้เข้ามาติดกับดัก เช่น คนในครอบครัว พี่น้อง ญาติ หรือเพื่อน ว่าเขามาลงทุนแล้วได้รับ ผลตอบแทนสูง ลองเข้ามาลงทุนด้วยกัน 

กลโกงที่ 23 หลอกให้เราโอนเงินไปลงทุน แล้วจูงใจว่า รอรับผลตอบแทนอย่างเดียว ไม่มีขาดทุน 

กลโกงที่ 24 ทำให้เรารู้สึก/เข้าใจว่า เป็นการลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อายุน้อยพันล้าน เป็นต้น 

กลโกงที่ 25 เขาจะสร้างโปรแกรมสำเร็จรูปเสมือนจริงทุกประการ มาเป็นหน้าจอแสดงผลหรือรายงานผลการลงทุน/ผลตอบแทน มีการแสดงกราฟ แบบเรียลไทม์ (Real Time) ดูเหมือนจริงโดยไม่มีที่ติ