ประเทศไทยต้องเผชิญอุบัติภัยรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างกรณี “เหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษา 23 ศพ” ก็เป็นอีกโศกนาฏกรรมแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่อันน่าสลด สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งประเทศ

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายด้านความปลอดภัยครอบคลุมจนได้ชื่อว่า “มีมาตรฐานทางวิศวกรรมระดับโลก” แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบังคับใช้กฎหมาย “ขาดมาตรฐาน” นำมาซึ่งอุบัติเหตุที่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

อย่างกรณีหมอกระต่ายถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตระหว่างข้ามทางม้าลายในช่วงเกิดใหม่ๆ “หลายหน่วยงาน” ตื่นตัวออกมาตรการอย่างเข้มงวดบังคับใช้ได้ 5-7 วันก็กลายเป็นไฟไหม้ฟางนำมาสู่เหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาที่เป็นบทเรียนสำคัญให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ร่วมวิเคราะห์สาเหตุ

นำเสนอผ่านความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุอัคคีภัยรถโดยสารบนท้องถนนโดย สุรเชษฐ์ สีงาม ที่ปรึกษาสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. บอกว่า เหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาเป็นอุบัติเหตุเกี่ยวกับก๊าซ NGV อันเป็นแก๊สธรรมชาติมีแรงดัน 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว และ
มีแรงดันสูงมากเท่ากับ 240 เท่าของความดันบรรยากาศ

อุณหภูมิที่ก๊าซ NGV จะลุกติดไฟเองต้องมีความเข้มข้นเชื้อเพลิงสูง 650 องศาฯ ส่วนอายุถังก๊าซ NGV หรือก๊าซ CNG เป็นก๊าซเดียวกันมีอายุใช้งาน 15 ปี ทำให้รถโดยสารต้องระบุฉลากหากมีเหตุฉุกเฉิน “นักดับเพลิงจะตอบโต้ได้ถูกต้อง” แล้วการใช้รถโดยสารต้องมีคำแนะนำแผนฉุกเฉิน และมีผู้ช่วยคนขับที่จะเป็นผู้พาคนออกตัวรถได้

ประเด็นน่าสนใจระหว่างลงพื้นที่จุดเกิดเหตุมีข้อสังเกตคือ “รถเสียหลักเลนกลางจำกัดความเร็วที่ 80–90 กม./ชม.” แล้วพบรอยขูดตามท้องถนนก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 500 เมตร ดังนั้นใต้พื้นท้องรถต้องมีอะไรผิดปกติจึงทำให้เกิดรอยขูดเป็นทางยาวกินพื้นถนนลงลึกพอสมควร หรืออาจเป็นโลหะก่อนที่จะไปชนกับแบริเออร์อย่างรุนแรง

...

เมื่อสังเกตดูใต้ท้องรถปรากฏพบว่า “นอตยึดโช้กซ้ายหาย 1 ตัว และนอตยึดโช้กขวา 1 ตัวอยู่ในสภาพเสียหาย” จากการขูดเสียดสีกับถนนที่อาจเกิดประกายไฟก็ได้ และยิ่งกว่านั้นตามรายงานข่าว “คานด้านหน้าหัก” มีความผิดปกติตัวสีเหล็กต่างกัน (สีเข้มและสีเหล็กใหม่สด) บ่งบอกสิ่งสำคัญอะไรบ้างอย่างด้วย

นอกจากนี้ “ถุงลมนิรภัยรับน้ำหนักแทนแหนบก็เกิดมีร่องรอยไฟไหม้รุนแรง” แต่ถ้าดูประวัติตามข้อมูลรถคันนี้เดิมเป็นรถบัสโดยสารประจำทางแบบเครื่องยนต์อีซูซุ โดยตัวรถใช้แหนบรับน้ำหนักที่อาจดัดแปลงมาเป็นระบบรองรับน้ำหนักด้วยถุงลมนิรภัยแทนจนเกิดการไหม้ส่งผลให้รถเสียการทรงตัวชนแบริเออร์หรือไม่

หากมาเก็บรายละเอียดต่อก็พบ “ถังก๊าซ NGV 11 ถัง” ถูกติดตั้งบริเวณท้ายรถตำแหน่งล้อหลัง 6 ถัง บริเวณโครงกลาง และใต้คนขับอีก 5 ถัง คือ หมายเลขที่ 7 และ 8 หมดอายุในปี 2023 แล้วก็มีถังก๊าซหมายเลขที่ 9, 10, 11 หมดอายุปี 2026 แต่หากดูถังที่ 10 กับถัง 11 บริเวณจุดเชื่อมต่อหลุดออกจากกัน

เรื่องนี้ตามปกติ “ถังก๊าซ NGV” หากมีการรั่วไหลหรือหลุดออกจากกันมักจะเกิดเสียงดังแรงมากเนื่องจากมีความดันสูงแล้วยังมีข้อสังเกต “สติกเกอร์ฉลากติดอยู่ตัวถังมีหลายชนิด” ตั้งแต่ปี 2556 ปี 2567 ทั้งมีหลายจังหวัด เช่น จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ กทม. แต่ตัวรถประจำอยู่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นการบ่งบอกอะไรหรือไม่

เช่นนี้มาตรฐานจำเป็นสำหรับ “ระบบความปลอดภัยของรถบัสทัศนศึกษา” โดยเฉพาะทางออกฉุกเฉินต้องมีเพียงพออยู่ในสภาพเหมาะสมใช้งานได้ มีแผนผังแสดงทางออกฉุกเฉิน มีข้อแนะนำให้ผู้โดยสารอพยพหนีได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะกำหนดตัวบุคคลในการเปิดประตูกรณีฉุกเฉินเหมือนดังการโดยสารเครื่องบิน

ไม่เท่านั้น “ช่องกระจกฉุกเฉิน และค้อนทุบกระจก” ต้องติดตั้งให้เห็นชัดใช้ง่ายสะดวกมีวิธีข้อแนะนำการใช้งานเสมอ เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารมักไม่เข้าใจวิธีใช้ที่ถูกต้อง ตามปกติค้อนต้องใช้ส่วนปลายแหลมกรีดขอบกระจกให้เป็นรอยก่อนแล้วค่อยทุบกระจกแต่จะไม่เคาะตรงกลางที่เป็นจุดแข็งแรงที่สุด

ส่วน “ถังดับเพลิง” ตามกฎหมายให้รถโดยสารมีถังดับเพลิงไม่น้อยกว่า 4 กก.อย่างน้อย 2 ถัง เท่าที่ลงตรวจสอบรถบัสเพลิงไหม้นั้นก็พบ “ถังดับเพลิง 2 ถัง” ติดตั้งด้านหน้าข้างคนขับ และอยู่บริเวณบันไดขึ้นชั้น 2 ของรถ

แต่ว่าตามมาตรฐานถังดับเพลิงประจำรถ “ไม่อาจใช้ระงับเหตุได้” เพียงแค่ใช้ควบคุมให้คนออกจากตัวรถเท่านั้น แล้วกรณีกลุ่มยานยนต์ใช้น้ำมัน หรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต้องใช้ถังดับเพลิง 6A-20B ที่มีขีดความสามารถดับน้ำมันเชื้อเพลิง 250 ลิตร/1 ถัง ดังนั้นผู้จะใช้ถังดับเพลิงกรณี
ฉุกเฉินต้องมีความรู้การใช้งานพอสมควร

เมื่อเปรียบเทียบกับ “ระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับรถนักเรียนในต่างประเทศ” ส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้รถบัสสองชั้นแต่จะใช้รถแบบชั้นเดียวเป็นหลัก “มีประตูฉุกเฉินขนาดใหญ่ท้ายรถ” เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้จากการติดตั้งก๊าซ NGV ก็จะอพยพออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การสูญเสียเกิดขึ้นน้อยมาก

โดยเฉพาะมาตรฐาน “รถที่ใช้เชื้อเพลิง NGV จะกำหนดให้ติดตั้งถังบนหลังคารถ” เนื่องด้วยก๊าซ NGV น้ำหนักเบากว่าอากาศหากติดตั้งไว้ “โครงสร้างรถเหมือนรถโดยสารในไทย” ก็จะกลายเป็นการนำเอาระเบิดมาติดไว้โครงสร้างรถ เมื่อเกิดการรั่วก๊าซจะเข้าไปสะสมในห้องโดยสารเป็นอันตรายอย่างที่เกิดขึ้นกับรถทัศนศึกษานี้

อีกทั้งยังมีคู่มือภาคสนามฉุกเฉินเบื้องต้น “กรณีก๊าซรั่วไหล” แนะนำให้ปิดการใช้งานรถ ตัดการเชื่อมต่อแบตเตอรี่ ปิดระบบเชื้อเพลิง แล้วยังมีระบบตรวจจับดับเพลิงเปิดใช้งานแบบอัตโนมัติหากเกิดไฟไหม้ หรือเกิดความร้อนสูง “เครื่องตรวจจับ” จะเกิดเสียงสัญญาณในห้องควบคุม และปล่อยแอมโมเนียมฟอสเฟตจุดที่ร้อนเกินไป

...

ยิ่งกว่านั้นยังออกมาตรฐานยานยนต์ “แผนแม่บทการกู้ภัยตาม ISO 17840” หน่วยกู้ภัย หรือนักดับเพลิงต้องเรียนรู้โครงสร้างข้อมูลของรถทุกรุ่นทุกยี่ห้อ แม้แต่ป้ายทะเบียนรถก็มีการแยกหมวดตามการใช้เชื้อเพลิง อย่างเช่นประเทศจีนแยกเป็น 2 สี คือ สีเขียวเป็นรถใช้พลังงานไฟฟ้า และสีน้ำเงินเป็นรถใช้เชื้อเพลิงน้ำมันต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ล้วนสอดรับต่อ “หน่วยดับเพลิง และหน่วยกู้ภัย”กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถประเมินสถานการณ์ตอบโต้ระงับเหตุและปฏิบัติงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ อันจะสามารถลดการสูญเสียให้น้อยที่สุดได้

ย้ำในส่วนประเทศไทยมีกฎหมายรองรับ “ความปลอดภัยบนท้องถนนมากมาย” แต่ติดปัญหาที่การบังคับใช้หย่อนยานจนนำมาสู่ “อุบัติเหตุเพลิงไหม้รถทัศนศึกษา 23 ศพ” อันเป็นบทเรียนสำคัญที่ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้ายหาก “รัฐบาล” ไม่ออกมาตรการผลักดันให้ความปลอดภัยบนท้องถนนเกิดขึ้นอย่างจริงจัง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม