รูปเล่มหนังสือ ที่สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ ของคุณวรพันธ์ โลกิต สถาพร ออกแบบ นับแต่ศัพท์สรรพรรณนา ภาษาสรรวรรณศัพท์ จนถึงเล่มล่า...อักษรศัพท์พินิจฉัย...เหมือนกัน

พอเห็นก็รู้ หนังสืออาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ มาถึงแล้ว

สำหรับผมช้าไม่ได้...เผื่อใจไปถึงคนที่เดินในงานหนังสือศูนย์สิริกิติ์ จะซื้อไปอ่านด้วย ผมเดาเอาหนังสือชุดนี้เป็นหนังสือขายดีแบบใครไวก็ได้ก่อน

ชิมลางเล่มนี้ ด้วยศัพท์ไหนดี? มีคำแนะในคำนำ...ศัพท์ที่ 24 จักจั่นมันร้องหน้าร้อน

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ปีนี้ประเทศไทยจะสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ในวันที่ 5 มีนาคม 2566

ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ก็มีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน

หน่วยงานนั้นคาดว่าจะร้อนไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาก็เข้าสู่ฤดูฝน

“อุตุ” คือคำเดียวกับ “ฤดู” อุตุนิยมวิทยา จึงหมายถึงวิชาเรื่องราวของบรรยากาศ คนเก่าๆไม่ได้อ่านคำประกาศกรมอุตุ แต่รู้ว่าฤดูร้อนมาถึงจากเสียง “จั๊กจั่น”

ขออนุญาต ออกเสียง/จั๊ก–กะ–จั่น/แม้ราชการกำหนดให้เขียน “จักจั่น” ไม่มีไม้ตรีที่ตัว “จัก”

เหมือนที่บังคับให้เขียน “ปักเป้า” แม้สามัญชนคนทั่วไปจะออกเสียง/ปั๊ก-กะ-เป้า/

น่าสนใจที่ว่า “ตั๊กแตน” โบราณใช้คำว่า “ตักแตน” ก็มี ดังตัวอย่างจากอนิรุทธคำฉันท์

ดุจตักแตนเต้นเห็นไฟ บมิใฝ่หนีไกล กำเลากำเลาะหวังเขญ

“ตุ๊กตา” โบราณใช้คำว่า “ตุกตา” ก็มีดังตัวอย่างจากคำให้การขุนหลวงหาวัด

“และตะคันเชิงไฟเตาไฟ และปั้นรูปช้างรูปม้าตุกตาต่างๆ”

ชาวบ้านเรียกจักจั่นตามสี ที่สีเขียวเรียก “เวียด” ที่สีขาวเรียก “วาด” บางคนเรียกตามขนาด ที่ตัวโตเรียก “จั๊กจ้า” ที่ตัวเล็ก เรียก “จั๊กแจ้ง” ที่ตัวเล็กมากเรียก “จั๊กจี้”

...

เมื่อเริ่มเข้าหน้าร้อนจักจั่นจะร้องกันระงม มันจะขึ้นจากพื้นดินมาเกาะกิ่งไม้กิ่งใครกิ่งมัน สีสันของมันเป็นสีน้ำตาลไหม้กลืนไปกับเปลือกไม้

นักกีฏวิทยาว่าตัวผู้มันร้องเพราะต้องการจะผสมพันธุ์ ผู้ชำนัญเรื่องแมลงยังสำแดงต่อไปว่า ชีวิตจักจั่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใต้ดินชื้นๆ หรือใต้รากไม้ใหญ่ มันจะดูดน้ำจากรากไม้เป็นอาหารยังชีวิต

เมื่ออุณหภูมิผิวดินเริ่มสูง มันจะผุดขึ้นมาเกาะกิ่งไม้ข้างบน เพื่อลอกคราบกลายเป็นตัวผู้เต็มวัยบินได้

และเข้าสู่ภาวะขยายพันธุ์

บางคนได้ยินว่ามันร้อง “จั่น-จั่น-จั่น-จั่น” สมชื่อ แต่อนิจจา จักจั่นผู้อาภัพ

แม้มันจะมีวิถีตัวอ่อนใต้ดิน 1–2 ปี แต่ถึงทีที่จะขึ้นบกมาสืบพันธุ์ มันกลับมีอายุสั้นเพียง 2–4 เดือน

เรียกว่าเตรียมตัวเป็นหนุ่มเสียเนิ่นนาน พอรื่นเริงสำราญได้เดี๋ยวเดียวก็ตาย

อาจารย์พรรณนาสารพันความรู้เรื่องจักจั่นมาถึงตรงนี้ แล้วก็จบว่า “เจ้าประคู้น ลูกขออธิษฐาน ชาติหน้าภพใดอย่าได้เกิดเป็นจักจั่นเลย”

ความรู้ลึกเร้นหลากหลาย และวิธีเขียนของอาจารย์ปรัชญาผมทำได้แค่พยายามตั้งใจลอกตามไป...ระวังไม่ให้ผิดครับ แต่วันนี้ อ่านตอนจบแล้ว นึกถึงกลโคลงอักษรล้วน แจ้วๆจักจั่นจ้า จับใจ...ขึ้นมา

จึงขออนุญาตเติม...ให้อีกนิด ที่เราได้ยินเสียง จั่น จั่น จั่น...จ้าจับใจ เหมือนคำโคลงนั้น

เสียงจั่นจั่น...คือเสียงส่งสัญญาณบอกลา

บทเรียนจากเสียงจักจั่น...สอนใคร? สอนบรรดา ดารา นักร้อง พิธีกร หรือแฮ่ะๆ พระองค์ดังๆ ให้สังวรระวัง...ความดังนั้น ถ้าเป็นเสียงจักจั่น ก็แสดงว่าเวลาดับใกล้เข้ามาเต็มที.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม