นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ บอกว่า ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจ อย่างยิ่งแก่ครอบครัวนักเรียนและครูผู้เสียชีวิต และขอให้ทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บให้หายโดยเร็วจากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี

ย้อนกรณีความสูญเสียรถบัสทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุบริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน ถนนวิภาวดีรังสิต จ.ปทุมธานี วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 12.08 น.

รถบัสวิ่งอยู่บนเลนกลางด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด ครูที่อยู่บนรถบัสคันที่ 3 เห็นรถบัสคันที่เกิดเหตุส่ายไปมา ก่อนจะเสียหลักเบนไปเลนขวา ชนข้างประตูรถเบนซ์ จากนั้นรถบัสวิ่งครูด ชนแบริเออร์เกาะกลางถนนเป็นทางยาว 450 เมตร

เมื่อรถหยุดนิ่งเกิดไฟลุกที่ด้านหน้า ต่อมา...ไฟไหม้รถทั้งคัน นักเรียนและครูเสียชีวิต 23 ศพ บาดเจ็บ 3 ราย

ในข่าวล้อรถด้านหน้าขวาและซ้ายไม่พบร่องรอยของการระเบิด จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่า “ยางแตก” เป็นสาเหตุทำให้คนขับควบคุมรถไม่ได้ ผมสันนิษฐานว่าสาเหตุที่รถส่ายไปมา วิ่งชนรถด้านขวาแล้ววิ่งครูดกับแท่งแบริเออร์เป็นทางยาว น่าจะเกิดจาก... “คนขับหลับใน”

ทำให้ไม่มีการควบคุมรถ ไม่หักหลบ ไม่เหยียบเบรก

คนขับรถบัสเป็นชายอายุ 48 ปี ไม่ทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือเปล่า คงตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 มาถึงโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามก่อนเวลา 05.00 น. คืนก่อนทำงานคงนอนหลับไม่กี่ชั่วโมง หลังทำงาน 8 ชั่วโมง มีโอกาสง่วงนอนสูง...ปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงครั้งนี้เกิดจากคนขับและรถ ไม่ได้เกิดจากสภาพแวดล้อม

“อุบัติเหตุเกิดขึ้นในเวลาเที่ยงวัน ฟ้าสว่าง ฝนไม่ตก สภาพถนนดีไม่ลื่น”

เหมือนเป็นเรื่องไม่ใหญ่สำหรับคนปกติที่มักจะ...“ง่วงนอน” อยากพักสายตาสัก 5 นาที ในบางช่วงเวลาของแต่ละวัน แต่หากรู้สึกง่วงอยากหลับในช่วงที่กำลังขับรถอยู่ล่ะ...ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้

...

พุ่งเป้าไปที่...ช่วงเวลาที่ง่วงนอนมากที่สุด เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ช่วงเวลาที่พบการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนได้บ่อยมีสองช่วงเวลา ได้แก่ ช่วง 24.00 น. ถึง 08.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และช่วง 13.00 น. ถึง 15.00 น.

แม้ว่าคนเหล่านี้จะได้รับการพักผ่อนนอนหลับมาเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถึงช่วงเวลานี้ของวันก็มักจะเกิดภาวะง่วงนอนขึ้นได้

ตอกย้ำ...สัญญาณอันตราย “ภาวะง่วงนอน” สู่ “ภาวการณ์หลับใน” ซึ่งก็คือการหลับระยะสั้นๆ (Microsleep) การหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลัน โดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที

น่าสนใจว่าอาการหลับในขณะขับรถอยู่จะเป็นดังนี้ เริ่มจาก...จำเส้นทางหรือเหตุการณ์ขับขี่ในระยะทางที่ขับมาไม่ได้, ขับออกนอกเส้นทาง, สมาธิในการขับขี่ลดลง, หาวบ่อย, ขับจี้คันหน้าหรือฝ่าไฟแดงโดยไม่รู้ตัว

ข้อแนะนำป้องกันการหลับในขณะขับรถมีว่า เริ่มจาก... “ง่วงก็หลับ” หากรู้ตัวว่าไปไม่ไหวแน่ จอดรถพักสายตาสัก 30 นาที หรือถ้าเร่งรีบก็ควรจอดรถไว้แล้วนั่งรถสาธารณะแทนไปก่อน

ถัดมา...หากขับระยะทางไกลๆ วางแผนการเดินทางเผื่อเวลาให้มาก เพื่อให้สามารถจอดพักรถและคนขับทุกๆ สองชั่วโมง รวมถึงงดรับประทานยาที่มีผลต่อประสาทและทำให้ง่วงซึม

ที่สำคัญเลยก็คือ...นอนให้พอมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

กรณีฉุกเฉิน...แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าหากว่าง่วงตอนนี้จริงๆจะทำอย่างไรได้บ้าง แนะนำว่าให้หาผลไม้เปรี้ยวๆ มะขาม คลุกเกลือ มะม่วงเปรี้ยว มะยม ตะลิงปลิง ลองกินสักนิดน่าจะตื่นได้หรือหาเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ เป็นตัวช่วย...เพิ่ม ความกระปรี้กระเปร่าแบบเร่งด่วนก็ได้

หรือ...เปิดเพลงมันๆ โยกๆ ร้องเพลงให้ดัง ขยับเบาๆ ไปด้วย ช่วยให้อารมณ์ดีและตื่นไปด้วยแน่นอน บางจังหวะก็คุยกับคนข้างๆ ถ้ามีคนนั่งอยู่ด้วย นั่งคุย...นั่งเม้าท์กันไปแก้ง่วง

ถึงตรงนี้ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ต้องกล่าวถึงนั่นก็คือ สาเหตุที่ทำให้ “ไฟไหม้รถทั้งคัน” นพ.มนูญ มองว่า น่าจะเกิดจากแรงกระแทกของโลหะตัวถังรถครูดกับแท่งปูนแบริเออร์ข้างถนนด้วยความเร็ว 80 กม.ต่อ ชม.โดยไม่มีร่องรอยการเหยียบเบรก และเพลาล้อหน้าหักครูดกับถนนด้วยความเร็ว

ทำให้...เกิด “ประกายไฟ” อุณหภูมิสูง

ประกอบกับท่อก๊าซของถังก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ถังที่ 8 ด้านหน้าหลุดจากแรงกระแทกของรถกับแท่งปูนแบริเออร์ทำให้ก๊าซรั่วจากถัง ส่งผลให้เกิดไฟไหม้ด้านล่างส่วนหน้าของรถก่อนแล้วลามไปทั้งคัน ปัจจัยด้านคนขับและรถมีความสำคัญ ต้องยกมาตรฐานระดับความปลอดภัยทั้งคนขับรถ

และ...สภาพรถบัสโดยสารที่ติดตั้งถังก๊าซเชื้อเพลิง CNG ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ประตูทางออกฉุกเฉิน และแผนอพยพหนีไฟโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนและประชาชน

ประเด็นสำคัญมีว่า “ประเทศไทย” ควรกำหนดให้มีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีป้องกันการหลับในและการละสายตาขณะขับขี่ เช่น ระบบ Guardian System ในรถบัสทัศนศึกษาเหมือนกับที่ติดตั้งในรถบรรทุกวัตถุอันตรายน้ำมัน เพื่อลดเหตุการณ์ซ้ำรอยไฟไหม้รถบัส

“ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบป้องกันการหลับในไม่สูงมากเดือนละ 2 พันกว่าบาท คุ้มค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับความสูญเสียของชีวิตมากมายอันไม่สามารถจะประเมินค่าได้”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม