ประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่เพียงแต่เผชิญกับภัยคุกคามจากความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำที่เพิ่มขึ้น ยังต้องรับมือกับปัญหาหมอกควันจากไฟป่าในทุกๆ ปี อันเป็นต้นเหตุของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่นพิษ PM10 และ PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นอุปสรรคในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีการจัดตั้งคณะทำงาน

ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Working Group on Water Resources Management: AWGWRM) และวางแผนการแก้ไขปัญหาวิกฤตมลพิษข้ามแดนร่วมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน ภายใต้ชื่อ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (The ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) การดัดแปรสภาพอากาศเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่แห้งแล้งและบรรเทาปัญหาหมอกควันที่เป็นผลกระทบจากภัยแล้งหรือการเผาในพื้นที่เกษตร โดยประเทศไทยโชคดีที่มีการดำเนินโครงการพระราชดำริฝนหลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์ของการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ทรงมีพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม

ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีฝนหลวง โดยมีการทดลองและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี 2512 ที่มีการทดลองบนท้องฟ้าครั้งแรกจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองและสืบสานพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อความอยู่ดี กินดี และมีความสุขดีขึ้น โดยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีฝนหลวง ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อันเป็นศาสตร์แห่งการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนร่วมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคการเกษตร และรักษาระบบนิเวศของประเทศด้วย

คณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (ASEAN SCMG) ครั้งที่ 41 ได้จัดการประชุมระหว่างวันที่ 6 - 8 ตุลาคม 2562 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเห็นชอบในการผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน (ASEAN Weather Modification Centre: AWMC) อันจะเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยนและหารือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำร่วมกันในภูมิภาคต่อไป ซึ่งประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับหน้าที่ให้เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการจัดทำหลักการและขอบเขตการทำงานของ AWMC ต่อมาที่ประชุม ASEAN SCMG ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้อนุมัติหลักการและขอบเขตการทำงานของ AWMC ดังกล่าว พร้อมทั้งได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Committee on Science, Technology and Innovation - COSTI)

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการถาวรของ AWMC ได้เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2567 (ASEAN Regional Seminar on Weather Modification 2024) อันเป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือของ AWMC อันจะนำไปสู่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่แห้งแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นเครื่องมือในการรับมือกับมลภาวะทางอากาศต่อไป