คณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (ASEAN Sub-Committee on Meteorology and Geophysics SCMG) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Committee on Science, Technology and Innovation: COSTI) ได้เห็นความสำคัญและผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน อันเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยรับมือและบรรเทาวิกฤตภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดย ASEAN SCMG พิจารณาว่าประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งมีการทดลองและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี 2512 ควบคู่กับการพัฒนาและต่อยอดด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีมติและเห็นชอบร่วมกัน เมื่อเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2566 ให้ประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นผู้ประสานงานหลักและฝ่ายเลขานุการถาวรของศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน (ASEAN Weather Modification Centre: AWMC) อันจะเป็นศูนย์การดำเนินกิจกรรมด้านการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งสำนักงานของ AWMC ดังกล่าวในประเทศไทย

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2567 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เชิญประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 9 ประเทศ รวมทั้งประเทศคู่เจรจาอาเซียน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และประเทศเครือข่ายความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลาง เข้าร่วมเป็นสมาชิก AWMC โดยมีประเทศที่สนใจและตอบรับการเข้าร่วมการเป็นสมาชิก จำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย จีน ศรีลังกา และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก

ในฐานะฝ่ายเลขานุการถาวรของ AWMC กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2567 (ASEAN Regional Seminar on Weather Modification 2024: ASWM 2024) อันเป็นการดำเนินงาน/กิจกรรมแรกภายใต้กรอบความร่วมมือของ AWMC โดยกำหนดจัดระหว่างวันที่ 18 - 22 ต.ค. 2567 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร สำหรับพิธีเปิดเพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ AWMC ให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และดำเนินการประชุมวิชาการ จำนวน 4 วัน ณ โรงแรมดีวารี พัทยา จ.ชลบุรี รวมทั้งการศึกษาดูงานภายหลังการประชุม ณ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ทั้งนี้ กำหนดมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 110 ราย ประกอบด้วย ผู้แทนจากต่างประเทศ ผู้แทนไทยจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานความร่วมมือภายในประเทศ

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนา วิจัยและปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ตลอดจนร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความเข้มแข็ง การดำเนินงานภายใต้ AWMC อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และบรรเทามลภาวะทางอากาศในระดับภูมิภาคให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อันจะนำไปสู่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันในหลักการและขอบเขตการทำงาน หรือ TOR ต่อไป