กรุงเทพมหานคร, 10 ตุลาคม 2567 - ขยะอาหาร (Food Waste) เป็นปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรง เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกรวน ข้อมูลจากรายงาน Food Waste Index 2024 ของ UNEP ระบุว่า ในปี 2022 ขยะอาหารทั่วโลกมีปริมาณมากกว่า 1 พันล้านตัน โดยค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ข้อมูลจาก กรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่า คนไทยสร้างขยะอาหารถึง 9.68 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยเป็น 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบสองเท่า 

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน คุณแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ เจ้าของช่อง PEAR is Hungry และผู้ก่อตั้ง aRoundP โปรเจกต์ครีเอเตอร์สายอาหารและความยั่งยืน ได้จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการ “Restaurant Makeover” เพื่อมุ่งลดขยะอาหารจากต้นทางและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นนำร่องจากร้านอาหารขนาดย่อม (SMEs) ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 50 แห่ง โดยการดำเนินการของโครงการนี้ ประกอบไปด้วยกิจกรรมการอบรมระบบการจัดการขยะอาหารเบื้องต้น เพื่อลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากภาคธุรกิจอาหารและโครงการต่อเนื่องในการรณรงค์ภายใต้ “กินหมดจาน Challenge” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทย และได้เข้ามามีส่วนร่วมกับทางโครงการในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดการเต็มรูปแบบในการจัดการขยะอาหาร

คุณพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้ก่อตั้ง aRoundP ได้กล่าวในงานว่า “ขยะอาหารไม่ใช่แค่ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมจะต้องดูแลแบบองค์รวม ตั้งแต่ต้นทางของขยะอาหารในครัว ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากกระบวนการเตรียมอาหาร (Food Loss) จนถึงขยะที่เกิดจากการบริโภคที่เหลือทิ้ง (Food Waste) ดังนั้น โครงการ Restaurant Makeover นี้จึงเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างพฤติกรรมการจัดการขยะอาหารเบื้องต้นจากร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 50 ร้านอาหารต้นแบบ ซึ่งเราเริ่มจากร้านอาหารขนาดย่อม (SMEs) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้สามารถลดการสูญเสียทรัพยากร เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาทั้งธุรกิจและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน”

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำว่า “การจัดการปัญหาขยะอาหารให้เหลือไปถึงหลุมฝังกลบให้น้อยที่สุดถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมากทม. มีโครงการ “ไม่เทรวม” ช่วยแยกขยะเศษอาหารได้ถึงเฉลี่ย 184 ตันต่อวัน ลดการปล่อยคาร์บอนได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 600,000 ต้น ดังนั้น โครงการ Restaurant Makeover ที่มุ่งผลักดันร้านอาหารมีการบริหารจัดการขยะอาหารที่ดีขึ้น จึงน่าจะเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราจัดการกับปัญหาขยะได้ดีขึ้น สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น”

ขยะอาหารที่ไม่ได้มีการจัดการเหมาะสมส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ หากฝังกลบก็ยังกระทบต่อคุณภาพดินและทำให้น้ำเน่าเสีย หากเผาก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 หรือหากทิ้งไว้เป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคที่จะตัวกระจายหรือพาหะนำเชื้อของสัตว์จากกองขยะไปสู่แหล่งน้ำดื่ม แหล่งการเกษตร และแหล่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นที่กลายเป็นมลพิษทางอากาศอีกด้วย

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สสส. ได้เร่งผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการขยะอาหารของประเทศ สร้างกระบวนการขับเคลื่อน และสร้างส่วนร่วมด้านการจัดการปัญหาขยะจากต้นทาง เพื่อการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งหากเราสามารถแก้ปัญหาที่ต้นทางได้ ปลายทางก็จะไม่ลำบาก ดังนั้น โครงการ Restaurant Makeover นี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการต้นแบบที่จะเข้ามาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรูปธรรม”

ทั้งนี้ โครงการ “Restaurant Makeover” จะดำเนินการต่อเนื่องตลอดปีนี้ โดยร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยจัดการขยะอาหาร โดยภาคประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ได้ผ่านกิจกรรม “กินหมดจาน Challenge” ซึ่งจะมีการประกาศรายละเอียดให้ทราบต่อไปผ่านทาง www.aroundp.co