ผมเคยอวดรู้ในคอลัมน์นี้ นิทาน “สามก๊ก” ที่เคยอ่านๆ มีนัยถึงสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ล่อกวนตง แต่ง มีเรื่องจริงอยู่ 7 มีเรื่องแต่งเติมหรือจะเรียกเรื่องเท็จอยู่ 3

มาถึงวันนี้มีข้อมูลใหม่เพิ่ม จึงต้องขอแก้ไข

ในหนังสือเล่ม “ศิลปะการใช้คนในสามก๊ก” (แสงดาวพิมพ์ พ.ศ.2567) บุญศักดิ์ แสงระวี ผู้แปล เขียนไว้ในคำนำว่า หลังล่อกวนตงแต่งสามก๊กแพร่หลายในสมัยราชวงศ์หมิง มีผู้นำไปปรับปรุง ตัดต่อ แก้ไข อีกหลายสำนวน

จนมาถึงสมัยต้นราชวงศ์ชิง เหมาจงก่าง นักอักษรศาสตร์ลือชื่อ นำมาชำระใหม่ เป็น 120 ตอน

เหมาจงก่าง อ้างว่านิทานสามก๊กที่เขาปรับปรุงเป็นฉบับโบราณขนานแท้และดั้งเดิม งานปรับปรุงมีหลายด้าน เช่น ตัดทอนเนื้อเรื่องบางตอน และเพิ่มบางส่วน

เปลี่ยนชื่อเรื่องทั้ง 120 ตอนใหม่หมด แก้หัวข้อเรื่องใหม่ให้เป็นกลอนคู่ไพเราะ แก้ไขสำนวนการบรรยายในบางแห่ง

แต่ฉบับไทยเอามาใช้แปลเพียง 87 ตอน หายไปถึง 33 ตอน เพราะฉะนั้นจึงมีเรื่องแต่งเดิมไม่น้อยที่ขาดไป

ยง อิงคเวทย์ ผู้รู้ไทยให้ข้อมูลเติมอีก องค์ปฐมกษัตริย์ไต้เช็ง (แมนจูเรีย) เคยใช้นิทานสามก๊กเป็นตำราพิชัยสงครามในการเข้ายึดครองจีนจากราชวงศ์เหม็ง

ทั้งใช้คติธรรมจากสามก๊กเป็นคู่มือการต่างประเทศ เจริญสัมพันธไมตรีกับมองโกเลีย

ส่วนหนังสือสามก๊กจี่ หรือจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์สมัยสามก๊ก ผู้ประพันธ์ชื่อตันซิ่ว (เฉินโซ่ว) ต้นราชวงศ์จิ้น เป็นขุนนางระดับล่าง ผ่านความเปลี่ยนแปรทางการเมือง จากสมัยพระเจ้าเล่าเสี้ยน แห่งจ๊กก๊ก มาอยู่กับราชวงศ์วุ่ย ต่อถึงราชวงศ์จิ้น

เมื่อเริ่มต้นค้นคว้าจะเขียน ก็เจอปัญหาในการหาแหล่งวัสดุเอกสารทั้งสามก๊กด้วยความลำบาก แต่ก็มานะพยายามเขียน เป็นเวลากว่า 30 ปี สำเร็จเป็นหนังสือรวม 65 เล่มสมุด (สมัยนั้นเล่มหนังสือคือกระดาษม้วน)

...

ด้วยข้อจำกัดมากมาย เหตุการณ์หลายตอน และประวัติคนหลายคน จึงสั้นและย่นย่อ

จนถึงสมัยพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ตันซิ่วได้เป็นจางวางในวังรัชทายาท และตายเมื่ออายุ 65 ปี งานเขียนจดหมายเหตุของเขาเริ่มมีผู้กล่าวขวัญถึง ขุนนางหลายคนใช้ราชโองการไปขอลอกต้นฉบับจดหมายเหตุที่บ้าน

หลายปีต่อมา หนังสือนี้จึงเป็นที่รับรอง เป็นหนังสือในหอสมุดหลวง

หลังตันซิ่วตาย 130 ปี พระเจ้าซ้องบุ๋นตี้ (พ.ศ.667-994) สั่งขุนนางชื่อผวยชงจือ ค้นคว้าเอกสารประกอบ นำมาอธิบายเพิ่มเติมอีก

ยง อิงคเวทย์ ประเมินค่าหนังสือจดหมายเหตุสามก๊กว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง

ช่วยให้คนสมัยต่อมาได้รู้เรื่องในสมัยสามก๊กได้มากพอ แม้จะมีข้อติติงทางการเมืองว่าตันซิ่วลำเอียงเข้าข้างราชวงศ์วุ่ยและราชวงศ์จิ้นอยู่บ้าง

หนังสือนิทานสามก๊กของล่อกวนตง เป็นหนังสืออ่านง่ายสำหรับสามัญชนทั่วไป แฝงอุดมการณ์และคติธรรมที่ดี ช่วยให้ประชาชนชื่นชมคุณค่าความกตัญญูกตเวที คุณธรรมจรรยา และวัฒนธรรมดั้งเดิมประชาชาติจีน

บทสรุปของข้อเขียนเรื่องนี้ จดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่วมีเหตุการณ์ที่เป็นจริงราว 70 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนที่ระบายสี 30 เปอร์เซ็นต์

นิทานสามก๊กของล่อกวนตง มีส่วนที่เป็นเหตุการณ์จริงราว 30 เปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนที่ระบายสีถึง 70 เปอร์เซ็นต์

เรื่องราวในสามก๊ก มาถึงวันนี้จะถูกเขียนให้เป็นเรื่องจริง 7 เป็นเรื่องเท็จ 3 หรือนิทาน เป็นเรื่องเท็จเสีย 7 เหลือเรื่องจริงแค่ 3... ก็ตามที มีเหตุปัจจัยที่อธิบายได้ เป็นเรื่องราวผ่านมาเนิ่นนานกว่า 1,800 ปี

สำหรับผม เรื่องที่หาเหตุปัจจัยอธิบายได้ยากนักหนา ก็คือเรื่องการเมืองสมัยใหม่ วันสองวันนี้...

อ่านจากสื่อมากมายหลายช่องทาง หลายๆครั้งบางเรื่อง อย่างเรื่องระดับสติปัญญาและความสามารถท่านผู้นำ ก็ยังสรุปไม่ได้ เรื่องไหนเท็จ เรื่องไหนจริง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม