"เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ"  

"คดีในอดีตก็มีให้เห็น ทำไมถึงไม่เรียนรู้"

"โดนหลอกเพราะความโลภ อยากได้อยากมี"

"คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด โลภมากลาภหาย"


กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI เคยสำรวจคดีแชร์ลูกโซ่ เมื่อปี 2547-2565 ระบุว่า มีคดีเช่นนี้ในมือดีเอสไอถึง 200 กว่าคดี มีผู้เสียหายรวม 3 แสนกว่าคน มูลค่าความเสียหายรวม 1 แสนล้านบาท และขยายวงกว้างไปแทบทุกอาชีพ ตั้งแต่ชาวบ้าน ไปจนถึงนักวิชาการ นักกฎหมาย นักบิน นักบัญชี แพทย์ วิศวกร 

ความใฝ่ฝันของมนุษย์ โดยเฉพาะปุถุชนธรรมดาที่อยากมีชีวิตที่ดี อยากมีทรัพย์สิน ถูกนับหน้าถือตา ขยับฐานะเป็นคนรวยในสังคมไทยกำลังกลายเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพที่ยกระดับความซับซ้อนในการฉ้อโกงมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่จะได้มี ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ต้องกลับ ‘สิ้นเนื้อประดาตัว’ และจบชีวิตตามไป 

คดี The iCon Group เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญ ที่ไม่ได้สะท้อนแค่ ‘ความโลภของคน’ แต่ยังเห็นไปถึงสภาพเศรษฐกิจ ค่านิยมของสังคมไทย ที่ไม่ว่าคดีจะจบเช่นไร ในอนาคตก็อาจเจอคดีแชร์ลูกโซ่รูปแบบใหม่ๆ ที่แนบเนียน-แยบยลขึ้น คำถามคืออะไรเป็นเงื่อนไขให้กลโกงยังดำรงอยู่ และมีคนตกเป็นเหยื่ออยู่ร่ำไป

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักเศรษฐศาสตร์ความสุขและศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ชวนเรามาลองหาคำตอบว่า ทำไมคนถึงหลงเชื่อมิจฉาชีพ ทำไมเราถึงฟังดารามากกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม แล้วทางออกของเรื่องนี้คืออะไร 

...

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนตกเป็นเหยื่อกลลวงของแชร์ลูกโซ่

ไม่มีธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่ไหนจะโฆษณาตัวเองหรอกว่า ‘ฉันจะทำธุรกิจแบบนี้นะ’ เพราะถ้ามันโจ่งแจ้งมาก  ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ไปร่วมด้วย 

ปัญหาคือ ธุรกิจพวกนี้มักแอบแฝงและดูยากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณี The iCon Group ตอนแรกคือการจ่ายเงินคอร์สออนไลน์นิดเดียวเพื่อเข้าไปเทรนด์ทักษะ จากนั้นเขาก็เริ่มนำเสนอตัวอย่างให้เห็นว่าคนประสบความสำเร็จเต็มไปหมดเลย พอไปเรื่อยๆ มันจะเริ่มเกิดสิ่งที่เรียกว่า Escalation of Commitment (ปรากฏการณ์ที่คนเรายังยืนยันกับสิ่งเดิมๆ เพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนเชื่อ ถึงแม้ว่าสิ่งดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายมาแล้ว)

แล้วพอเราถลำเข้าไปนิดหนึ่งปุ๊บ เราจะเริ่มเห็นว่า ‘เฮ้ย มันดี’  เริ่มเห็นว่ามีคนอื่นประสบความสำเร็จจริง สิ่งนี้คือ Social Proof (หลักฐานและการพิสูจน์ทางสังคม) เหมือนพอเราไปเห็นว่า ไม่ใช่แค่เราคนเดียวนะที่อยู่ในธุรกิจนี้ มีหลายคนมากเลย แล้วคนอื่นก็สำเร็จกันเยอะมาก ทำให้รู้สึกว่า ธุรกิจนี้ถูกพิสูจน์แล้วโดยสังคม ‘ในความคิดของเรา’  

จากนั้นมันก็เริ่มเกิดการยกระดับ เริ่มขยายตัวเป็นผลกระทบแบบโดมิโน Domino Effect กว่าเราจะรู้ตัวมันก็ไปถึงจุดที่ว่า “โอ้ นี่เราต้องเสียเงินเยอะขนาดนี้เลยหรอ” ถึงตอนนั้นมันก็สายไปแล้ว 

องค์ประกอบต่อมาคือการที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ 'เนื้อหา' เท่ากับการที่ 'ใครเป็นคนพูด' (the Messenger Effect) โดยเฉพาะในเรื่องที่ยากๆ เช่นเรื่องธุรกิจ การเงิน ฯลฯ เราก็จะเริ่มมองหาแล้วว่า ใครเป็นคนพูด แล้วเราเชื่อใจเขาได้มากน้อยขนาดไหน 

กรณี The iCon Group  เขามีดาราที่คนนับถือมาช่วยโปรโมท ถึงแม้ว่าดาราเหล่านี้อาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องของธุรกิจหรือในเรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่แค่เพราะว่าเรานับถือเขา โอกาสที่เราจะไว้ใจจึงมีค่อนข้างสูง จะเรียกกว่าฉลาดแกมโกงก็ได้ 

อีกปัจจัยคือเรื่อง 'ผลตอบแทน' โดยเฉพาะการที่ไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย หรือเสี่ยงน้อยแต่ได้เยอะ ทำให้ธุรกิจพวกนี้วางกรอบแนวคิดว่า ‘คุณลงทุนเลย คุณจะมีโอกาสได้ชัวร์ๆ’ ประกอบกับคนเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดที่จะเสี่ยงเท่าไหร่ เราก็ลงทุนไปเลยเพราะรู้สึกว่ามันน่าจะได้แน่ๆ 

สุดท้ายคือ เหยื่อส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ค่อยดี โดยคนกลุ่มนี้มักจะมองว่า เราจะได้กำไรมากที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุดได้อย่างไร ไม่ได้คิดไกลมากในเรื่องการลงทุน คือยิ่งมีรายได้น้อย ยิ่งหาทางลัดเพื่อที่จะเปลี่ยนชีวิตของเขา 

ทั้งหมดนี้คือกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ นั่นคือ คุณมาทำกับเรานะ คุณได้แน่นอน และได้ในจำนวนที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้ด้วยซ้ำไป

‘คดีในอดีตก็มีให้เห็น ทำไมยังถูกหลอก’ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมว่าคนเราแยกไม่ออกนะครับ ระหว่างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คนเราส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะมันไม่ใช่เหตุการณ์ที่เหมือนกันทุกอย่าง 

ผมเชื่อว่าไม่มีธุรกิจไหนที่มันจะเหมือนกันแบบ 100% เป๊ะๆ หรือถ้าจะมีก็ตาม ปัญหาของมนุษย์เราคือ เราไม่ได้มีความทรงจำที่ยืดยาวขนาดนั้น แล้วมันไม่ได้เป็นอะไรที่ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเหยื่อส่วนใหญ่จะอับอายในการที่จะยอมรับว่าเราเป็นเหยื่อ แล้วพออับอาย เขาก็ไม่ได้ส่งต่อบทเรียนตรงนั้นให้คนอื่นหรือลูกหลาน 

...

ขณะเดียวกัน รูปแบบธุรกิจมันก็เปลี่ยนเรื่อยๆ วิธีการหลอกคนก็เปลี่ยนด้วย เมื่อเราไม่มีเกราะป้องกันตรงนี้ โอกาสที่เราจะตกเป็นเหยื่อก็สูงอยู่ กรณีสิ่งที่เกิดขึ้นในคดี The iCon Group ผมว่ามันไปเป็นอีกระดับเลย เพราะว่ามีดาราหลายคนมากที่เราเห็นในสื่อเป็นประจำมาเกี่ยวข้อง แล้วเราเชื่อใจ เชื่อถือ นั่นแหละครับคือส่วนหนึ่งที่ทำให้มีเหยื่อเยอะขนาดนี้ 

เมื่อคนความจำสั้น รูปแบบกลโกงก็ดูซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ แปลว่าในอนาคตจะมีเหยื่อมากขึ้น? 

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง คือผมลองขายคำทำนายให้นักศึกษา โดยการทอยเหรียญว่ามันจะออกหัวหรือก้อย โดยให้คุณเอาเงินมาจ่ายเพื่อซื้อคำทำนายกับเราก่อน

เราพบว่า ตอนแรกก็ไม่มีใครซื้อหรอก ไม่มีใครเชื่อ เพราะคนส่วนใหญ่รู้ว่าไม่มีใครสามารถพยากรณ์หรือทำนายเหรียญนี้ได้ แต่พอเราเริ่มเสี่ยงทายและพยายามกรณ์ถูก แถมถูก 5 ครั้งติดต่อกัน ทำให้แม้กระทั่งนักศึกษาที่ฉลาดๆ และรู้ว่าไม่มีใครพยากรณ์ได้หรอก เขายังยอมซื้อเลย 

งานวิจัยชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าเป็นเรื่องที่คนรู้อยู่แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วมันไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ อย่างที่ผมทายเหรียญถูกต้องติดกัน 5 ครั้ง  มันอธิบายไม่ได้ใช่ไหม คนก็เริ่มลังเลแล้วว่า ‘เฮ้ย เราน่าจะลองซื้อนะ’ ทั้งๆ ที่จริงผมวางแผนไว้หมดแล้วว่ามันจะมีบางคนได้และไม่ได้คำทำนายที่ถูกต้อง 

หากเอาตัวอย่างนี้มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาจพูดได้ว่า ยิ่งกลวิธีมันซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่คนจะตกเป็นเหยื่อมันยิ่งทวีคูณเข้าไปใหญ่ เพราะขนาดนักศึกษาฉลาดๆ ยังยอมซื้อคำทำนายเหรียญ นับประสาอะไรที่คนจะไม่ยอมซื้อ The iCon Group ที่ออกแบบกลยุทธ์มาอย่างซับซ้อน โดยการเอาธุรกิจขายตรงมาเชื่อมกับโมเดลแบบธุรกิจลูกโซ่ 

...

ผมเชื่อว่า วิวัฒนาการของการหลอกลวงแบบนี้ มันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น ดูยากขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็ยังมีวิธีการหลอกแบบเดิมๆ ออกมา หรือปรับเปลี่ยนวิธีนิดหน่อย เพราะเขารู้ว่ามันยังมีเหยื่ออีกเยอะในสังคม 

การที่ประชาชนจะตรวจสอบเองว่าธุรกิจนั้นๆ โปร่งใสแค่ไหนไม่ใช่เรื่องง่าย ตราบที่อาชญากรไม่กลัวกฎหมาย คุณมองทางออกของเรื่องนี้อย่างไร 

มันไม่ใช่แค่หน้าที่ของบุคคลแต่เป็นหน้าที่ของสถาบันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาและสถาบันที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วย  

อย่างแรก สถาบันการศึกษาเป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะใช้วิธีหลอกด้วยการส่งมาผ่านช่องทางส่วนตัว LINE บ้าง Facebook บ้าง โดยบางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จเยอะไหม หรือมีคนที่ล้มละลายเยอะหรือไม่จากเหตุการณ์เหล่านี้ 

สถาบันการศึกษาสามารถสอนได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาชวนเราลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงแล้วได้เยอะ ส่วนใหญ่แล้วมัน ‘ดีเกินไป’ ไม่น่าจะใช่ มันควรจะมี Red Flags หรือสัญญาณอันตรายปักไว้แล้วว่า เราต้องระวังแล้วนะ 

หรือถ้ามันเป็นการลงทุนที่ ‘คุณต้องลงทุนเดี๋ยวนี้เลยนะ ถ้าไม่ทำเดี๋ยวนี้คุณจะพลาด' อันนี้ก็เป็นสัญญาณอันตรายอันที่สอง เราควรยับยั้งชั่งใจแล้วว่า ทำไมเขาถึงเร่งเราขนาดนี้ 

หรือถ้าเราต้อง ‘จ่ายเงินก่อน’  ส่วนมากแล้วถ้าธุรกิจขายตรงมันถูกศีลธรรม ถูกกฎหมายจริงๆ  เราไม่ควรต้องจ่ายเงินก่อน เขาควรจะได้เงินส่วนแบ่งจากสิ่งของที่เราขายได้มากกว่า อันนี้ก็เป็นสัญญาณอันตรายอันที่สาม

สถาบันการศึกษาสามารถช่วยสอนเรื่องพวกนี้ได้ แล้วเราก็ควรมีสถาบันที่คุ้มครองปกป้องหรือตรวจสอบธุรกิจ แล้วระบุรายชื่อมาเลยว่า ธุรกิจนี้ลงทะเบียนเรียบร้อย ถูกกฎหมายอย่างไร มีโมเดลธุรกิจอย่างไร โดยอาจมีนักเศรษฐศาสตร์มาช่วยกันวิเคราะห์ว่า โอเค มันถูกศีลธรรมและกฎหมายขนาดไหน แล้วอัตราความเสี่ยงมีมากน้อยแค่ไหน 

...

สภาพเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมโยงกับจำนวนอาชญากรรมและจำนวนของการตกเป็นเหยื่ออย่างไร 

ปัญหาของการหลอกลวงฉ้อโกงจะมีอัตราที่สูงในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากๆ 

ประเทศไทยเองก็มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ฉะนั้นคนรายได้น้อยก็จะมีความรู้สึกว่า ‘ถ้าฉันรวยนะ ฉันจะมีคนนับหน้าถือตา กินอะไรก็ได้ นอนโรงแรมไหนก็ได้’ ซึ่งเรามักจะเห็นอยู่เป็นประจำ คนเหล่านั้นก็อยากพลิกชีวิต เพราะถ้าแค่ทำงานหนัก เก็บเงินไปเรื่อยๆ ก็มีคุณภาพชีวิตแค่ในระดับที่ ‘โอเค’ เท่านั้น 

ผมเชื่อว่าถ้าประเทศไทยเราสามารถแก้หรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โอกาสที่ธุรกิจผิดกฎหมายจะตกคนมาเป็นเหยื่อก็จะลดน้อยลง เพราะคนจำนวนมากอาจจะไม่ได้แคร์มากว่าต้องรวย หรือพลิกชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือภายในวันสองวัน 

ถ้าความเหลื่อมล้ำลดลง ค่านิยมของสังคมที่ชอบเปรียบเทียบรวยจนจะทุเลาลงไปด้วยไหม?

มันจะลดลงครับ คือในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยและมีความเท่าเทียมกันเยอะ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยแคร์ว่าคนอื่นจะรวยกว่าหรือจนกว่า แล้วการรวยกว่าคนอื่นมันไม่ได้มีผลพลอยได้ที่เยอะแยะ ซึ่งคนไทยก็พอจะรู้ว่า คนรวยไม่ใช่แค่คนที่มีเงินเยอะ แต่เขามีสถานะ มีเครือข่าย และอภิสิทธิ์อีกหลายอย่างที่มันเป็น ‘ผลพลอยได้’ จากการอยู่บน Top 1% ของคนในสังคม 

ถ้าเราแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ มีสวัสดิการที่ดี ผมเชื่อว่าคนเราส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อที่จะไล่ตามความรวยมาก เท่ากับสังคมปัจจุบันที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

แล้วอาจารย์มองสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร 

ตอนนี้ผมสอนหนังสืออยู่ที่สิงคโปร์ อาจจะมีความรู้ไม่มากเท่าคนที่อยู่เมืองไทย แต่เท่าที่ผมทราบ ประเทศไทยไม่มีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนมานานแล้วในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามา ส่วนใหญ่ก็จะดูแค่สิ่งที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน พยายามเพิ่ม GDP เร็วๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว เพราะถ้าจะแก้ มันคือการแก้ทั้งโครงสร้าง ทั้งเรื่องการศึกษา หน้าที่การงานในอนาคตที่จะรองรับสังคมสูงวัย เหล่านี้เราไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงมีคำพูดประมาณว่า ประเทศไทยเป็นผู้ป่วยเรื้อรังในอาเซียน 

เมื่อคนจนก็จะเยอะ โอกาสที่มิจฉาชีพจะหาผลประโยชน์ก็เยอะอยู่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรามีคนรายได้น้อยเยอะ แล้วพวกเขาก็อยากจะขยับฐานะให้รวยขึ้นในสังคม เพื่อเป็น ‘คนรวยในสังคมที่เหลื่อมล้ำ’ แปลว่ากลุ่มเป้าหมายของมิจฉาชีพก็ยังเยอะอยู่ มันก็ยังเป็นกงเกวียนกำเกวียนไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของเราให้ยั่งยืนกว่านี้ 

ดูเหมือนอีกยาวนานมากเลย

พอสมควรครับ (หัวเราะ)

อธิบายเพิ่มหน่อยว่า ทำไมคนถึงเชื่อถือดารามากขนาดนี้ ไม่ว่าจะเรื่องผลิตภัณฑ์ ธุรกิจ ไปจนถึงเรื่องการเมือง 

อธิบายค่อนข้างยากเหมือนกันนะครับ.. ถ้าเราตั้งคำถามกลับว่า ทำไมเราไม่ฟังนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ในเรื่องพวกนี้ ทำไมเราถึงไปฟังดารา พูดง่ายๆ เลยคือ นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ในเรื่องพวกนี้ ไม่มีแพลตฟอร์มในสังคม (หัวเราะ) แล้วเท่าที่ผมเข้าใจ สังคมไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก ฉะนั้นแรงจูงใจจึงไปทางอื่นหมด คนส่วนใหญ่อยากจะเป็นดารา เป็นยูทูบเบอร์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพราะนั่นคือหน้าตาของสังคม 

แล้วทำไมคนถึงเชื่อ  ส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่า ‘เพราะฉันอยากเป็นอย่างเขา ฉันสามารถเชื่อมโยงกับเขาได้ ฉันสามารถเข้าใจคนที่เป็นดาราได้เพราะฉันเห็นพวกเขาอยู่เป็นประจำในบทบาทที่ดี เห็นว่าชีวิตเขาช่างดีเหลือเกิน สุดยอดมากๆ’  

อะไรพวกนี้มันคือ ‘แรงบันดาลใจ’ ที่ทำให้เราอยากเป็นแบบเขาบ้าง ไม่ใช่แค่ในไทยหรอกครับ ในหลายๆ ประเทศก็ให้ความสำคัญกับดาราหรือคนที่ออกทีวีบ่อยๆ ทั้งที่จริงแล้ว เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้ในเรื่องที่เขาพูดมากเท่ากับนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการบัญชี หรือนักธุรกิจจริงๆ เลย

หลังจากคดี The iCon Group จะทำให้อิทธิพลของดาราในการพูดหรือโฆษณาลดลงไหม 

ถ้าจะลด ก็คงลดภายใน 3-4 เดือน หลังจากนั้นก็อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะอย่างที่ผมบอก คนเราส่วนใหญ่มีความทรงจำที่สั้น 

เรื่องพวกนี้มันเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เป็นคนดังเหมือนกันด้วย แล้วผมก็เชื่อว่าในอนาคตมันก็จะยังเกิดขึ้นอีก นั่นคือคนก็ยังให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดาราพูดเพราะเขาคงจะลืมเรื่องนี้ไป เพราะเดี๋ยวก็จะมีข่าวใหม่มากลบ 

การที่เราจะต่อสู้กับเรื่องนี้จริงๆ คือการต่อสู้เรื่องโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ โครงสร้างการศึกษาตั้งแต่ต้นเลย ไปจนถึงสถาบันคุ้มครองและปกป้องผู้บริโภค มันจะต้องเข้ามาปูพื้นแก้ปัญหาระยะยาว ไม่อย่างนั้นก็คงจะเป็นอย่างนี้อีก 

แล้วในระยะสั้นล่ะ มีกลไกอะไรบ้างที่จะทำให้สถาบันดาราหรือการเมือง ออกกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องผู้บริโภคให้ชัดเจนขึ้น

เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นที่อังกฤษครับ คือการที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ออกมาโฆษณา โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ว่าคือการโฆษณา มันเลยมีกฎหมายออกมาว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณจะโฆษณาอะไรสักอย่าง คุณต้องระบุในโพสต์ของคุณเลยว่า ‘นี่คือการโฆษณา’ ผมไม่รู้ว่าเมืองไทยมีหรือเปล่า 

การแก้ปัญหาในระยะสั้น ผมมองว่าสาเหตุที่คนตกเป็นเหยื่อ อาจเป็นเพราะดาราออกมาบอกว่า ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งนะที่ประสบความสำเร็จจากตรงนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขาเพิ่งมาบอกทีหลังว่าเป็นแค่พรีเซ็นเตอร์ พูดตรงๆ นี้ นี่คือการหลอกลวงประชาชน เพราะประชาชนไม่รู้ว่านี่คือการโฆษณา 

ผมคิดว่ามันน่าจะมีกฎหมายออกมาว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณจะโฆษณา มันควรจะระบุออกมาอย่างชัดเจน 

มีนักเศรษฐศาสตร์โดนหลอกจากแชร์ลูกโซ่บ้างไหม

ผมไม่รู้นะ แต่ก็คงจะมีแหละ (หัวเราะ) 

อ้างอิง