“เด็ก” และ “เยาวชน” ก็คือบุคลากร ที่สำคัญของชาติบ้านเมืองในทุกๆประเทศทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นของพลเมืองแห่งรัฐก็คือทุกวันนี้เด็กเกิดลดลง...ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การดูแลคุณภาพชีวิตของเด็ก การปกป้องคุ้มครองในสิทธิของเขาเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

กรณีเหตุสลดไฟไหม้รถทัวร์ทัศนศึกษา ถนนวิภาวดีขาเข้า เฉลิมพล พลมุข ประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ บอกว่า เหตุการณ์อุบัติเหตุเจ็บตายทางถนนลักษณะนี้มิใช่ครั้งแรกของสังคมไทยเราที่ผ่านมาก็มีเกิดขึ้น

ความสูญเสียบางสถานการณ์มิน่าจะเกิดขึ้นกับคนในประเทศทุกๆคน เหตุใด...อะไร ที่รัฐ...รัฐบาล...เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชนที่ต้องรับผิดชอบถึงระดับความปลอดภัยแห่งชีวิต จึงมีการปล่อยปละละเลย?

ครั้งคราใดที่มีการสูญเสียเด็กเล็กๆผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาการแสดงออกถึงความสูญเสียในบริบทต่างๆตามมา สิ่งหนึ่งที่เราท่านมักจะรับรู้อย่างเสมอมาก็คือ คาดหวังว่า...เหตุการณ์นี้จักเป็นครั้งสุดท้าย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนตัวเลขคนเกิดตายในเมืองไทยจนถึงเดือนตุลาคม 2566 ระบุว่า มีเด็กเกิดใหม่ 433,050 คนและมีคนตาย 472,546 คน ข้อสังเกตหนึ่งก็คือขณะนี้สังคมไทยเราคนตายมากกว่าคนเกิด ในโรงพยาบาลต่างๆมีคนเจ็บป่วย...แก่ชราตายทุกๆวัน

ศาลาวัดในการทำพิธีศพมีจำนวนศพที่พระต้องสวดพระอภิธรรมทุกวันเช่นกัน เมื่อเด็กเกิดน้อยลง โรงเรียนต่างๆมีเด็กเข้าเรียนน้อยลงโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยมีที่นั่งสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าเรียนจนกระทั่งมีนโยบายลดแลกแจกแถมเพื่อให้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ทว่า...นักศึกษาไทยจบออกมาไม่มีงานทำ

...

“ขณะเดียวกันชาวต่างชาติรอบๆเมืองไทยเรามีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น เขาเหล่านั้นมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข? ลูกชาว ต่างชาติบางคนเกิดในเมืองไทย...รับรัฐสวัสดิการจากภาษีของเราท่านทั้งหลายและหลายคนก็ยอมที่จะตายในแผ่นดินไทย...” เฉลิมพล ว่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในจำนวน 279 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 54 วรรคสองที่ระบุถึงรัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง

เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย...

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 7 ให้มีคณะ กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ประกอบด้วย รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของรัฐเป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผอ.สนง.ส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กฯ ครู จิตวิทยา กฎหมาย แพทย์ ผู้แทนจากภาคเอกชน...

ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก รวมถึงกฎหมายอื่นๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตเด็กในจำนวนที่หลากหลาย เมื่อดูสาระหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้วให้การคุ้มครองที่ครอบคลุม รวมถึงบทบัญญัติแห่งการลงโทษที่มีความชัดเจน

คำถามสำคัญหนึ่งจากประชาชนชาวบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองที่สูญเสียชีวิตเด็กๆในครอบครัวควรได้รับการคุ้มครองเยียวยาชีวิตที่ต้องสูญเสียไปอย่างมิมีวันกลับมาอีก อย่างคุ้มค่าต่อชีวิตหรือไม่ อย่างไร...?

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆก็คือผู้ประกอบการรถยนต์หรือรถทัวร์ชนิดท่องเที่ยวที่เป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ มีมาตรฐานทั้งระบบต่อชีวิตผู้โดยสารในรถหรือไม่?...ระบบการจดทะเบียน ต่อภาษี ตรวจสภาพรถ หรือมาตรฐานอื่นๆมีการปล่อยปละละเลย รวมถึงมาตรการอื่นๆจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ...เอกชนหรือเปล่า?

อาจจักรวมไปถึงการดำเนินคดีการลงโทษด้านกฎหมายของบ้านเมือง เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองชีวิตของเด็กรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วยในอนาคต จักเกิดขึ้นใน “รัฐบาล” นี้ได้หรือไม่ อย่างไร...?

บันทึกไว้ว่า...ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเรื่องความปลอดภัยทางถนนถึงเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยทางถนน กฎหมายหลายฉบับไม่ทันสมัย ต้องปรับแก้การบังคับใช้กฎหมาย

...

รวมถึงมาตรฐานของรถทัวร์อุปกรณ์และทางออกของผู้โดยสารเหมือนเครื่องบิน...

จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอมติที่ประชุมถึงการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหายกระดับรถโดยสารสาธารณะอย่างเร่งด่วนภายใน 15 วัน มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกเรียกตรวจสภาพรถโดยสารติดตั้งก๊าซ NGV ทั้งสิ้น 13,426 คัน รถบัสจ้างเหมา 1,336 คัน รถบัสประจำทาง 5,967 คัน

รถตู้–รถมินิบัส 6,123 คัน หากพบว่า...มีสภาพไม่พร้อมใช้งาน สั่งห้ามนำรถออกใช้งาน

สังคมคงต้องจับตาดูนโยบายข้างต้นนี้จะถูกนำไปใช้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อมิให้ความตาย เหตุเศร้าสลดใจเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่...?

น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว. ได้มอบกลอนบทหนึ่งต่อกรณีดังกล่าวคือ “ขอน้อมส่งเด็กน้อยน้อยไปบนฟ้า ขอกล่าวลาลูกลูกวัยสดใส ขอความสุขทุกที่ที่หนูไป เดินทางไกลคราวนี้ให้ร่มเย็น ไม่มีเจ็บไม่มีปวดแล้วลูกจ๋า ห้องเรียนคงว่างเปล่ากว่าเคยเห็น บ้านคงเงียบวังเวงกว่าเคยเป็น ทุกเช้าเย็นเสียงร่ำไห้แทบขาดใจ....

...

ครูกอดกันกั้นเด็กเป็นกำแพงมนุษย์ สิ่งท้ายสุดที่เรารับรู้ได้คือ คุณครูปกป้องศิษย์ด้วยหัวใจ ขอกราบไหว้คารวะจิตวิญญาณ ขอสดุดีคุณครูผู้เสียสละ แบกภาระการดูแลศิษย์ของท่าน ทำหน้าที่สมเกียรติจนวายปราณ ขอกราบกรานยกมือวันทาครู ขอน้อมส่งทุกชีวิตที่ปลิดสิ้น

เสียงร่ำไห้ที่ได้ยินยังก้องหู ขอให้ลูกนักเรียนและคุณครู เดินทางสู่สัมปรายภพอันงดงาม...”

บทเรียนอุบัติเหตุที่เกิด...ความสูญเสียเช่นนี้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม